“ประยุทธ์” ปราศรัยวันสหประชาชาติ ย้ำความสำคัญของสหประชาชาติ ไทยพร้อมให้ความร่วมมือในทุกมิติ เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเยาวชน ร่วมสนับสนุนภารกิจของสหประชาชาติ
วันนี้ (24 ต.ค.) เวลา 07.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวคำปราศรัยเนื่องในโอกาสวันสหประชาชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปี ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ในโอกาสนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงสาระสำคัญของคำปราศรัย ดังนี้
องค์การสหประชาชาติเป็นศูนย์รวมความร่วมมือของประชาคมโลก เพื่อบรรเทาความทุกข์ รับมือกับความท้าทายต่างๆ ของโลก รักษาสันติภาพ ปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมการพัฒนาที่สมดุลและยึดคนเป็นศูนย์กลางโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยในเดือนธันวาคม 2564 นี้ จะครบรอบ 75 ปี การเป็นสมาชิกสหประชาชาติของไทย ซึ่งที่ผ่านมาไทยให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด จนได้รับการยอมรับว่า เป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาที่มีความรับผิดชอบและเชื่อถือได้ของสหประชาชาติ และในปัจจุบัน ไทยอยู่ระหว่างการทำหน้าที่เป็น ผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรี ยินดีและภาคภูมิใจที่ไทยเป็นศูนย์กลางของสหประชาชาติในภูมิภาค ดังนั้น เราจึงควรเป็นเจ้าบ้านที่ดี สนับสนุนการดำเนินงานของสหประชาชาติทั้งในประเทศและภูมิภาค ในปี 2564 นี้ ประเทศต่างๆ เริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 แต่ยังคงมีภัยคุกคามต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาวุธนิวเคลียร์ การก่อการร้าย การลิดรอนสิทธิมนุษยชน นำไปสู่การย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติและวิกฤตด้านมนุษยธรรมตามมา โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ความหวังที่จะมีโลกที่ดีกว่าเดิม ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นของทุกประเทศ ที่จะร่วมมือกันสร้างสันติภาพผ่านกรอบพหุภาคีที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะการส่งเสริมสิทธิ และบทบาทของเยาวชนและสตรี
สำหรับการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 76 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไทยได้ตอกย้ำถึงบทบาทที่ “แข็งขัน สร้างสรรค์ และต่อเนื่อง” บุคคลสำคัญในกรอบสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ต่างชื่นชมไทยถึงบทบาทสำคัญต่อภารกิจของสหประชาชาติและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอการสร้าง “ความสมดุลของสรรพสิ่ง” ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อต่อยอดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในโอกาสนี้ ไทยยังแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุข ส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากการที่ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนและเวชภัณฑ์ที่สำคัญของภูมิภาค
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความสำคัญของสหประชาชาติว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว และรัฐบาลไทยพร้อมเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนภารกิจของสหประชาชาติ สร้างคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ และการฟื้นฟูโลกอย่างสมดุลและยั่งยืนภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19