xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ห่วงหนี้สินครู กำชับ ศธ.เร่งหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยต่อสถานการณ์ปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึษา ซึ่งปัจจุบันพบว่าครูทั่วประเทศประมาณ 9 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 80 มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู วงเงิน 890,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64 รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน วงเงิน 349,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับกระทรวงศึกษาธิการ เร่งหาแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรอย่างยั่งยืน รวมถึงให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เตรียมพร้อมวงเงินปล่อยกู้ให้นักเรียนและนักศึกษาเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อใช้ในค่าใช้จ่าย ปีการศึกษา 2564

น.ส.รัชดา เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแผนแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบแล้ว ระยะแรกจะดำเนินการ 3 แผนงาน ได้แก่

แผนงานที่ 1 โครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ จำนวน 12 แห่ง 4 ภาค ภาคละ 3 แห่ง ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง และส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่จังหวัด ภายในเดือนตุลาคมนี้ และขยายผลการดำเนินไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศที่มีความพร้อม ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

แผนงานที่ 2 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เจรจากับสถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาครูรายที่ถูกฟ้อง พร้อมแนวทางการแก้ปัญหาของผู้ค้ำประกัน และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 โดยให้มีการดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกันในระดับพื้นที่จังหวัดในการปรับโครงสร้างหนี้ ระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สถาบันการเงิน และส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการระดับจังหวัด

แผนงานที่ 3 การจัดอบรมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ทางด้านการวางแผนและการสร้างวินัยทางการเงินและการออม โดยมีเป้าหมายอบรม 1 แสนคนต่อปี เริ่มอบรมรุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-15 ตุลาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ศูนย์ Deep กระทรวงศึกษาธิการ

นอกจากนี้ ยังมีการถอดบทเรียนการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาจากสหกรณ์ตัวอย่าง 2 แห่ง คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จำกัด และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร จำกัด พบสาระสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้ คือ "การปรับลดภาระดอกเบี้ย" และ "การปรับโครงสร้างหนี้" ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ต่ำลงไม่เกิน 3% ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์และสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับสินเชื่อที่มีอัตราความเสี่ยงต่ำ 4.5-5% ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น รวมหนี้จากทุกสถาบันการเงินมาไว้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูหรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู การปรับโครงสร้างหนี้ครูก่อนเกษียณ อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และลดดอกเบี้ยเงินกู้แก่ครูที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ 0.25-0.50.% เป็นต้น

สำหรับการช่วยเหลือนักเรียนและนักศึกษาในเรื่องเงินกู้นั้น กยศ. ได้ขยายกรอบวงเงินการให้กู้ยืม ปีการศึกษา 2564 จากเดิมจำนวน 38,587 ล้านบาท สำหรับผู้กู้ จำนวน 620,000 ราย เป็น 40,000 ล้านบาท สำหรับผู้กู้ยืม จำนวน 700,000 ราย เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่างๆ ให้กับนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 โดยขยายเวลายื่นขอกู้ยืมเงินภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 นักเรียน นักศึกษาสามารถยื่นกู้ยืมผ่านโทรศัพท์มือถือด้วยแอปพลิเคชัน กยศ. Connect หรือทาง www.studentloan.or.th โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในการทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึษา เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญอย่างมาก ที่ผ่านมาได้แต่งตั้งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างเป็นระบบ ทั้งการลดรายจ่าย เพิ่มการออม และไม่ก่อหนี้เพิ่ม รวมไปถึงการป้องกันไม่ให้ครูรุ่นใหม่ๆ ต้องติดกับดักวงจรการเป็นหนี้ด้วย และในเรื่องเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ขอยืนยันว่ากองทุน กยศ. มีเงินให้กู้ยืมเพียงพอสำหรับนักเรียน นักศึกษาได้มีโอกาสได้เรียนต่ออย่างแน่นอน