xs
xsm
sm
md
lg

"หมอธีระ" ชี้สถานการณ์โควิดในไทยยังน่าห่วง แนะปูพรมตรวจ-ให้คนหยุดนิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ในวันนี้ (19 ก.ย.) ว่า สถานการณ์ทั่วโลก 18 กันยายน 2564 สิงคโปร์ทะลุพันคนไปเรียบร้อยแล้ว เป็นครั้งแรกในรอบปีกว่า ซึ่งครั้งสุดท้ายคือวันที่ 20 เมษายน 2563

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 394,950 คน รวมแล้วตอนนี้ 228,882,763 คน ตายเพิ่มอีก 6,443 คน ยอดตายรวม 4,698,817 คน โดย 5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ สหรัฐอเมริกา อินเดีย สหราชอาณาจักร ตุรกี และฟิลิปปินส์

ส่วนสถานการณ์ของไทยนั้น จำนวนติดเชื้อใหม่สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก เป็นอันดับ 5 ของเอเชีย และหากรวม ATK จะเขยิบขึ้นเป็นอันดับ 8 ของโลก อันดับ 4 ของเอเชีย การระบาดยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเพิ่มอีก 243 คน
จำนวนเตียงว่างเหลืออีกราว 10% ขณะที่พื้นที่ใกล้เคียงน่าเป็นห่วง ทั้งนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ กระบี่ ต้องเอาใจช่วยให้ควบคุมได้โดยเร็ว

ด้วยการระบาดเช่นนี้ หากไม่หยุดคนให้นิ่ง ปูพรมตรวจ คงจะยากที่จะควบคุม ย้ำอีกครั้งว่าวัคซีนที่ใช้นั้นหวังผลในแง่ลดโอกาสป่วย รุนแรง หรือเสียชีวิต ซึ่งเป็นผลระดับบุคคลมากกว่าที่จะเกิดผลในระดับสังคมในระยะสั้น

หากมองไปยาวๆ การปรับรูปแบบการดำเนินชีวิต รวมถึงการค้าขาย บริการต่างๆ ให้เน้นความปลอดภัยในระยะยาว จำเป็นต้องทำอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ การที่่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยวิธีการฉีดตามมาตรฐานสากล ที่ผ่านการพิสูจน์ ทั้งเรื่องความปลอดภัย การกระตุ้นภูมิคุ้มกันและระยะเวลาที่คงอยู่ของภูมิคุ้มกัน รวมถึงผ่านการพิสูจน์ประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ลดความรุนแรง และลดอัตราตาย แต่จำเป็นต้องทำหลายทางพร้อมกัน ทั้งผ่านรัฐสวัสดิการ และให้ประชาชนสามารถเลือกรับเลือกใช้เลือกเข้าถึงได้เองผ่านภาคส่วนเอกชน สถาบันการแพทย์/การศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมอื่นๆ และสุดท้ายคือ การส่งเสริมให้ประชาชน ทั้งผู้ใหญ่และเด็กมีความรู้เท่าทัน สามารถมีทักษะในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง ค้นหา ทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ เพื่อติดตามสถานการณ์โรคและความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับการดูแลรักษา การป้องกันตัว ป้องกันโรคได้อย่างทันกาล ก็จะทำให้มีสมรรถนะในการรับมือกับภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นได้ชัดเจนว่า สองปีที่ผ่านมานี้ มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ทราบข้อมูลที่ทันสมัยจากต่างประเทศ และได้รับการพิสูจน์เป็นที่ยอมรับระดับสากล และตัดสินใจประพฤติปฏิบัติอย่างเหมาะสมสำหรับตนเองและครอบครัวได้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีมากทีเดียว