xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติจับมือสมาคมแบงก์เตรียมแถลงออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือหนี้เสีย ในปัจจุบัน สถาบันการเงินมีการประคองลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าหนี้เสียปรับตัวขึ้นอยู่แล้ว แต่ไม่น่ามาก ซึ่งตอนนี้ได้เร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยหวังว่าโควิด-19 รอบนี้จะเป็นระลอกสุดท้าย และไม่กลับไปล็อกดาวน์อีก ซึ่งหน้าผาเอ็นพีแอล หรือ NPL Cliff จะสามารถบริหารจัดการได้ และใช้เวลา 2 ปี เพราะการแก้ไขปัญหาไม่สามารถเกิดขึ้นได้เร็ว โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้หารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศมาตรการเพิ่มเติมออกมาในเร็วๆ นี้

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า หนี้เสียเอ็นพีแอลมีโอกาสขยับขึ้นได้บ้าง คาดว่าสิ้นปี 2564 จะอยู่ที่ 3.2% ของสินเชื่อรวม หลังจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเอ็นพีแอลอยู่ระดับ 3.09% ของสินเชื่อรวม ซึ่งต้องติดตามความช่วยเหลือลูกหนี้จากสถาบันการเงิน เชื่อว่ามีลูกหนี้บางรายที่หลุดรอดไปบ้างจากความหนักและรุนแรงของการระบาดโควิด-19 กระทบต่อความสามารถชำระหนี้ โดยต้องดูว่าสถาบันการเงินจะมีมาตรการช่วยลูกหนี้ลดภาระอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ คาดว่าวันที่ 3 กันยายนนี้ ภาคธนาคารและ ธปท.จะแถลงร่วมกันออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ธปท. ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ไปแล้ว

ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกมาตรการเน้นช่วยประชาชนรายย่อยและเอสเอ็มอีให้มีสภาพคล่องและแก้ไขหนี้เดิม ซึ่งในส่วนหนี้ประชาชนได้คงอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตที่ 5% ไปจนถึงสิ้นปี 2565 และขยายวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ให้ได้รับสินเชื่อไม่เกิน 2 เท่า จากเดิม 1.5 เท่าของรายได้ และไม่จำกัดสถาบันการเงิน จากเดิมต้องไม่เกิน 3 แห่ง มีผลไปจนถึงสิ้นปี 2565 ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ขยายเพดานวงเงินสินเชื่อจากไม่เกิน 20,000 บาท เป็นไม่เกิน 40,000 บาท และขยายเวลาชำระคืนจาก 6 เดือน เป็น 12 เดือน

นอกจากนี้ ธปท. ได้ผ่อนเกณฑ์ให้สถาบันการเงินช่วยลูกหนี้ โดยคงสถานะจัดชั้นหนี้จนถึง 31 มีนาคม 2565 ใช้เกณฑ์การจัดชั้นและการกันสำรองได้ยาวถึงสิ้นปี 2566 และขยายเวลาการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เหลือ 0.23% จาก 0.46% ต่อปี นานถึงสิ้นปี 2565 เพื่อลดต้นทุนของสถาบันการเงินนำเงินที่ลดไปช่วยลูกหนี้ โดยจะให้สถาบันการเงินเน้นปรับโครงสร้างหนี้ มากกว่าเลือกให้พักหนี้แบบระยะสั้น เพราะโควิด-19 ยืดเยื้อส่งผลกระทบด้านรายได้ยาวนาน

โดยสถาบันการเงินต้องตกลงความช่วยเหลือกับลูกหนี้ ให้การผ่อนชำระสอดรับกับรายได้ปัจจุบัน เช่น อาจยืดหนี้ออกไป และเมื่อเศรษฐกิจกลับมา จะให้ทยอยจ่ายหนี้คืนเป็นขั้นบันได หรืออาจใช้ดิจิทัลมาเป็นช่องทางให้ลูกหนี้เข้าถึงมากขึ้น ลดการเดินทางมาสาขา และต้องช่วยลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจริง ตามลักษณะของปัญหาแต่ละราย เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังมีมาตรการช่วยลูกหนี้เอสเอ็มอี โดยขยายวงเงินสินเชื่อฟื้นฟูหากเป็นลูกหนี้ใหม่จะได้สินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท จากเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน ส่วนลูกหนี้เก่าหากวงเงินสินเชื่อเดิมไม่เกิน 150 ล้านบาท จะได้รับ 30% ของวงเงินแต่ละสถาบันการเงิน เปลี่ยนมาเป็นได้รับ 30% ของวงเงินแต่ละสถาบันการเงิน หรือได้รับสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท แล้วแต่ยอดใดจะสูงกว่า และปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้กับลูกหนี้ที่มีวงเงินเดิมไม่เกิน 50 ล้านบาท และได้รับวงเงินใหม่ไม่เกิน 15 ล้านบาท เป็นต้น