xs
xsm
sm
md
lg

กรมสุขภาพจิตห่วงจิตใจเด็กสูญเสียพ่อแม่จากโควิด-19 แนะผู้ใหญ่ใกล้ชิด เปิดโอกาสให้เด็กระบาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แม้ว่าสังคมจะเรียนรู้กับสถานการณ์โควิด-19 มาระยะหนึ่งแล้ว แต่การระบาดในระลอกนี้กลับพบความตึงเครียดมากขึ้น และมีความกังวล เกรงว่าจะติดเชื้อ ความกังวลนี้ มีข้อดี คือทำให้เกิดการเฝ้าระวัง ป้องกันตนเอง

ทั้งนี้ พบว่าข้อมูลของผู้ใช้บริการสายด่วน 1323 มีจำนวนผู้ใช้บริการมากกว่าทุกปี โดยการระบาดระลอก 3 พบการโทรสอบถามขอคำปรึกษามากที่สุดในเดือนเมษายน และยังเปิดช่องทางให้สอบถามมากขึ้น ผ่านเฟซบุ๊กสายด่วน 1323 เพื่อให้คำปรึกษาแบบแชต และมีการให้คำปรึกษาผ่านไลน์ 1323 Line official.@ 1323 forthai ขณะนี้พบญาติของผู้สูญเสียมาขอรับคำปรึกษามากขึ้น โดยพบว่าคนที่รักษาตัวอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ใน Home Isolation หรือ Community Isolation ต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัว ทำให้เกิดความโศกเศร้า มีตั้งแต่อาการนอนไม่หลับและอื่นๆ

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือกลุ่มเด็กที่ต้องสูญเสียผู้ปกครองเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็กอนุบาล และกลุ่มเด็กวัยเรียน ซึ่งพบว่าในกลุ่มเด็กอนุบาล ยังแยกไม่ได้ระหว่างการมีชีวิตหรือเสียชีวิต เด็กยังคงปฏิบัติตัวเหมือนปกติ เสมือนหนึ่งคนในครอบครัวไม่เสียชีวิต เช่น การเรียกรับประทานอาหาร หรือพูดคุยปกติ เรื่องแบบนี้จะสร้างความสะเทือนใจให้กับคนพบเห็น ญาติที่เห็นต้องเข้มแข็ง และมีส่วนสำคัญช่วยให้เด็กผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ เพราะยังไม่เข้าใจ ต้องอธิบายอย่างง่ายให้เด็กเข้าใจ คนที่เสียชีวิตไปแล้วไม่สามารถทำอะไรเหมือนที่คนทั่วไปเคยทำ แต่ยังสามารถระลึกถึงคนตายได้ปกติ

ส่วนเด็กโตวัยเรียน ต้องให้โอกาสการพูดคุย และเด็กอาจนึกถึงอนาคตของตัวเอง คิดถึงผลกระทบของตนเอง ขาดคนดูแล ต้องพูดคุยให้เข้าใจและมั่นใจในอนาคต เพื่อให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ อารมณ์ที่สงบของผู้ใหญ่ ให้เด็กได้ระบาย จะช่วยให้เด็กผ่านเวลานี้ไปได้ดี