นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ร่วมกับ นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล นักวิชาการอิสระด้านการเกษตรและการพัฒนาที่ยั่งยืน เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง "วิกฤตศรัทธา ต่อ ระบบราชการ ยามวิกฤตโควิดและปากท้อง" กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,142 ตัวอย่าง
เมื่อถามถึงสภาพที่เป็นอยู่ของระบบราชการในสภาวะวิกฤตโควิดและปากท้องของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.5 ระบุ กลไกรัฐ ระบบราชการมีปัญหา ช่วยเหลือประชาชนไม่ได้ และส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 92.5 ระบุ ปัญหาในสภาวะวิกฤต เจ้าหน้าที่ในระบบราชการไม่ตอบโจทย์ความต้องการจำเป็นเร่งด่วนของประชาชนได้ ประชาชนขาดที่พึ่ง และหมดความน่าเชื่อถือ
ที่น่าเป็นห่วง เมื่อถามถึงประสบการณ์และความเห็นต่อการทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐในสภาวะวิกฤตโควิดและปากท้องของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.5 ระบุ ทำงานล่าช้า ร้อยละ 63.2 ระบุ ทุจริต คอร์รัปชัน ร้อยละ 60.8 ระบุ ไม่มีแผนที่ดีรับมือวิกฤต ร้อยละ 57.1 ระบุ ไม่มีการทำงานเชิงรุก เข้าไม่ถึงประชาชน ร้อยละ 54.7 ระบุ ทำงานผักชีโรยหน้า หลอกตาผู้บังคับบัญชาและประชาชน ร้อยละ 49.8 ระบุ ปล่อยปละละเลยความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชน ร้อยละ 48.5 ยึดระเบียบ กฎเกณฑ์มากเกินไป ร้อยละ 42.7 ระบุ ผลักภาระ โยนความเดือดร้อนของประชาชนกันไปมา ไม่เข้าช่วยเหลือประชาชน และร้อยละ 41.5 ระบุ ไม่ตรงไปตรงมา ไม่โปร่งใส
ที่น่าพิจารณา คือ ผลการสำรวจ 5 อันดับแรก หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานรัฐ กระทรวงต่างๆ ที่ต้องเร่งปรับปรุงตัวช่วยประชาชนอย่างเร่งด่วน พบว่า มากที่สุดคือ กระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 83 รองลงมา กระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 64.9 อันดับสาม กระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 53.9 อันดับสี่ กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 53.2 และกระทรวงศึกษาธิการ ร้อยละ 40.1
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลนี้ชี้ให้เห็นถึงกลไกหลักของรัฐในภาวะวิกฤต คือ "ระบบราชการ" ไม่สามารถเป็นที่พึ่งและไม่ได้รับความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชน โดยส่วนใหญ่ระบุว่า ส่วนราชการต่างๆ ขาดการทำงานเชิงรุก ไม่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ยึดกฎระเบียบและไม่อ่อนตัวสนองตอบต่อปัญหา ส่งผลความล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือ ประชาชนยังเชื่อว่า ในยามวิกฤตโรคระบาดและปากท้อง ยังมีการทุจริตและเอื้อประโยชน์ในระบบราชการ ซึ่งเป็นปัจจัยกัดกร่อนความเสื่อมถอยของระบบราชการที่สำคัญ
นอกจากนั้น ยังสะท้อนให้เห็นถึงส่วนราชการที่ต้องปรับปรุงตนเองเร่งด่วนในยามวิกฤต คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และกระทรวงศึกษาธิการ ตามลำดับ ซึ่งต้องการความตื่นตัวและรับผิดชอบสูงสุดจากหัวหน้าส่วนราชการทุกระดับ โดยเฉพาะการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขในภาวะวิกฤต ทั้งการควบคุมโรค การบริหารจัดการวัคซีน และการดูแลรักษาประชาชน ขณะที่การดูแลปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการควบคุมราคาสินค้าและมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ การดูแลฟื้นฟูระบบการศึกษาให้ต่อเนื่องและไม่ให้เกิดรอย ขณะเดียวกัน ยังสะท้อนถึงการบริหารจัดการของฝ่ายปกครองทุกระดับ ที่ดูแลส่วนราชการและงบประมาณในพื้นที่จังหวัด อำเภอ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร สะท้อนผ่านสังคม ถึงความไม่เชื่อมั่นและอ่อนแอของระบบที่ชัดเจนยิ่ง
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวถึงการสนองตอบของระบบราชการที่จำกัดในภาวะวิกฤต จนไม่สามารถเป็นที่พึ่งและเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนจะเป็นตัวเร่งสำคัญให้เกิดการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนย้ายหัวหน้าส่วนราชการระดับต่างๆ จัดการขบวนการทุจริตคอร์รัปชันในระบบราชการ การคัดคนมีความสามารถเข้าและประเมินคนมีความสามารถต่ำออก เพื่อยกระดับระบบราชการที่ตอบสนองประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนและความท้าทายต่อภาคการเมืองและความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อรักษาเสาหลักของชาติและช่วยเหลือประชาชนครั้งนี้