พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้โพสต์ข้อความลงบน เฟซบุ๊กส่วนตัว “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” ระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ทั้งการพัฒนาภาคและกลุ่มจังหวัด/จังหวัด รวมทั้งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งถือเป็นการวางอนาคตของประเทศไทย ในการลงทุนในกิจการที่เหมาะสมกับภูมิภาค และนำมาสู่การสร้างงาน อาชีพ สร้างรายได้ ให้กับคนไทยทุกภาคของประเทศ
โดยคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ได้กำหนดพื้นที่และกิจการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน 4 ภาค ดังนี้
• ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC – Creative LANNA) ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการที่ต่อยอดจากฐานวัฒนธรรมล้านนา ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าบริการเพื่อสุขภาพ พัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ผสานวัฒนธรรมล้านนา รวมถึงการท่องเที่ยว
• ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC – Bioeconomy) ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย เพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ที่เชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากอ้อยและมันสำปะหลัง สินค้าและบริการด้านอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงโปรตีนจากแมลง
• ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง – ตะวันตก (Central – Western Economic Corridor: CWEC) ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของภาคกลาง-ตะวันตกในด้านอุตสาหกรรมเกษตร อาหารสุขภาพและอาหารทางการแพทย์ การท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ธรรมชาติ และอุตสาหกรรมไฮเทคที่ได้มาตรฐานระดับสากล ระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่เชื่อมโยงกับกรุงเทพและพื้นที่โดยรอบ และ EEC
• ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ให้เป็นประตูการค้า ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน และเป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ การแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง แปรรูปปาล์มน้ำมันและยางพาราขั้นสูง อาหารทะเลปลอดภัย รวมทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่ระดับนานาชาติ