ไฟเขียวเพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภูมิภาค 16 จังหวัด เน้นให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุน “นายกฯ” สั่ง “ผู้ว่าฯ-อปท.” ทำความเข้าใจประชาชน เผยผุดทันที “เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง /ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี หนองคาย /พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี /ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช” พ่วงเตรียมแผนบริหารแรงงานอย่างเป็นระบบ
วันนี้ (21 พ.ค. 64) มีรายงานจากทำเนียรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 1/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอกนิกส์ (VDO Conference) ไปยังหลายกระทรวง โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เป็นประธาน โดยมีการพิจารณาข้อเสนอการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 พื้นที่ในระยะต่อไป
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการกำหนดพื้นที่และแนวทางในการให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุน 4 ภาค ประกอบด้วย
ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC - Creative LANNA) (จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และ ลำปาง) เพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการที่ต่อยอดจากฐานวัฒนธรรมล้านนา ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่
พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC - Bioeconomy) (จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย) เพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ที่เชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต
พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (Central - Western Economic Corridor: CWEC) (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี) เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของภาคกลาง-ตะวันตกในด้านอุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมไฮเทคที่ได้มาตรฐานระดับสากล เชื่อมโยงกับกรุงเทพและพื้นที่โดยรอบ และ EEC
และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) (จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช) เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน และเป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ
“นายกฯ มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ พิจารณากำหนดขอบเขตพื้นที่ของแต่ละระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ กิจการเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ และนำเสนอ กพศ. เพื่อพิจารณาในลำดับถัดไป”
รวมทั้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของทั้ง 4 ภาค รับฟังความคิดเห็นของประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และสิทธิประโยชน์ที่จะให้แก่ผู้ประกอบการในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง
รวมทั้งวัตถุประสงค์ เป้าหมาย แนวทางการดำเนินงาน และการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ต่อไป
นายกรัฐมนตรี ยังย้ำถึงความสำคัญในการเร่งรัดพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงกับประชาชนและภาคเอกชนในพื้นที่ ทั้งการเพิ่มรายได้ สร้างงานและอาชีพ เพื่อลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
รวมทั้งให้เตรียมแผนบริหารแรงงานอย่างเป็นระบบ ทั้งแรงงานในประเทศและต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยต่างๆ ลดปัญหาคนว่างงานในอนาคต
โดยมอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ พิจารณาจัดตั้งกลไกการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ เพื่อประสานการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นไปตามนโยบายของ กพศ. และสอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วนในพื้นที่ด้วย
โดยในส่วนของการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง ที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรซึ่งมีความก้าวหน้ากว่าร้อยละ 70 มีการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว
โดยมีศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงานให้บริการในการเข้ามาทำงานแบบไป-กลับ แก่แรงงานกัมพูชาและเมียนมา โดยใช้บัตรผ่านแดนและต้องมีการทำประกันสุขภาพให้มีระยะเวลาครอบคลุมระยะเวลาที่ทำงานในประเทศไทย
รวมทั้งมีการจัดหาที่ดินราชพัสดุเพื่อใช้เป็นพื้นที่พัฒนานำร่องการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีการเช่าพื้นที่พัฒนาแล้ว 5 พื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว สงขลา ตราด นครพนม และกาญจนบุรี ปัจจุบันมีการลงทุนของภาคเอกชนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่งแล้วประมาณ 25,400 ล้านบาท
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความสำคัญในการเร่งรัดพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงกับประชาชนและภาคเอกชนในพื้นที่ ทั้งการเพิ่มรายได้ สร้างงานและอาชีพ เพื่อลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
รวมทั้งให้เตรียมแผนบริหารแรงงานอย่างเป็นระบบ ทั้งแรงงานในประเทศและต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยต่างๆ ลดปัญหาคนว่างงานในอนาคต โดยมอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษพิจารณาจัดตั้งกลไกการบริหารจัดการ ในระดับพื้นที่เพื่อประสานการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นไปตามนโยบายของ กพศ. และสอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วนในพื้นที่ด้วย
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำห้วงเวลานี้เป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้น เรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจต้องชัดเจน ลุกให้เร็ว ก้าวให้ไว เพื่อรองรับหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย
โดยเฉพาะคณะกรรมการ กพศ. จะต้องเป็นหลักในการที่จะทำให้รัฐบาลสามารถที่จะตัดสินใจในการอนุมัติแผนงาน/โครงการและการดำเนินโครงการต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดสอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ รวมถึงภารกิจ พันธกิจ และการบูรการณ์ Agenda เหล่านี้ ทุกกระทรวงต้องช่วยกัน
ส่วนการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของทั้ง 4 ภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง - ตะวันตก และภาคใต้) ต้องแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของแต่ละพื้นที่อย่างเต็มที่ก่อนขยายเชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่มีศักยภาพและความพร้อม
รวมทั้ง BOI ต้องมีการปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนมาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการดึงคนที่มีศักยภาพ Talent คนสูงอายุที่มีกำลังทรัพย์ และโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการพิจารณาในเรื่องของ Free Zone เช่นเดียวกับหลายประเทศได้ดำเนินการอยู่ เป็นต้น การดำเนินการดังกล่าวนี้ คือ อนาคตของประเทศและเศรษฐกิจไทย