นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนได้เริ่มทำการสำรวจความต้องการวัคซีนโควิดในแต่ละโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมแจ้งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อสั่งซื้อจากบริษัทวัคซีนต่อไป
สำหรับราคาวัคซีนได้ร่วมกันจัดทำแพกเกจวัคซีน โดยคิดเป็นค่าวัคซีน ค่าบริการ และค่าประกัน ซึ่งจะกำหนดเป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศ แต่ทั้งนี้อาจต้องคำนวณต้นทุนราคาวัคซีนเสียก่อน เนื่องจากวัคซีนแต่ละชนิดมีต้นทุนต่างกัน
ขณะเดียวกัน ยังได้ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อทำประกันการแพ้วัคซีนให้แก่ผู้ฉีดทุกราย เคาะราคาอยู่ที่ 50-100 บาท มีผลตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรก และครอบคลุมในระยะเวลา 90-100 วัน
ทั้งนี้ หากผู้ฉีดมีอาการแพ้จนต้องพักรักษาในโรงพยาบาล จะได้รับค่าคุ้มครอง 100,000 บาท หรือกรณีเสียชีวิต จะได้รับเงิน 1,000,000 บาท
ส่วนระยะเวลาการนำเข้าวัคซีนทางเลือกขณะนี้ยังไม่มีเวลาอย่างแน่ชัด แต่หากผ่านการขึ้นทะเบียน อย. และนำเข้ามาฉีดได้แล้ว จะเร่งกระจายไปในโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศให้เร็วที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 400 แห่ง
ด้านนายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ต่อจากนี้ไปวัคซีนโควิด-19 จะเป็นสินค้าควบคุมที่จะไม่มีการค้ากำไรเกินควร ในส่วนขององค์การเภสัชกรรมได้เข้ามาเป็นสื่อกลางในการนำเข้าวัคซีนทางเลือกระหว่างโรงพยาบาลเอกชน และบริษัทวัคซีน เนื่องจากปัจจุบันมีข้อจำกัดวัคซีนใช้ในภาวะฉุกเฉิน บริษัทวัคซีนจึงต้องการดีลกับภาครัฐเท่านั้น
ทั้งนี้ ยืนยันว่า องค์การเภสัชกรรมไม่ได้ผูกขาดวัคซีนแต่อย่างใด แต่เข้ามาเพื่ออำนวยความสะดวก เพื่อกระจายวัคซีนสู่คนไทยได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น