ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า โควิด 19 การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ตามวิวัฒนาการ
ไวรัสก่อโรค covid-19 เริ่มต้นจากประเทศจีนจะมี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ S (Serine) และสายพันธุ์ L (Leucine) และเมื่อระบาดมาสู่นอกประเทศจีน สายพันธุ์ L แพร่กระจายได้ดีกว่าและแบ่งลูกหลานออกเป็นสายพันธุ์ G (Glycine) และสายพันธุ์ V (Valine)
สายพันธุ์ G มีวิวัฒนาการได้มากกว่าแพร่กระจายโรคได้มากกว่า จึงพบส่วนใหญ่ในขณะนี้
สายพันธุ์ G ได้แพร่กระจายลูกหลาน เป็นสายพันธุ์ GH (Histidine) GR (Arginine) และ GV (Valine) ขณะนี้สายพันธุ์ GV มีเป็นจำนวนมาก
การระบาดในประเทศอินเดีย ส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์ GR แต่ก็มีสายพันธุ์ GH ได้แต่ น้อยกว่า ไม่พบการศึกษาสายพันธุ์ในประเทศพม่า แต่เข้าใจว่า เมื่อระบาดที่ประเทศพม่าส่วนใหญ่จะเป็น GH เพราะสายพันธุ์ที่พบจากคนไทยผ่านแดนมาจากพม่า เราตรวจพบเป็นสายพันธุ์ GH ทำนองเดียวกันสายพันธุ์ที่สมุทรสาครก็เป็นสายพันธุ์ GH
นอกจากสายพันธุ์แล้ว ขณะนี้ที่พูดถึงกันมาก ถึงสายพันธุ์ของอังกฤษ และ แอฟริกาใต้ คือการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ในบริเวณหนามแหลมหรือสไปรท์ (Spike) ที่ยื่นออกมาจากตัวไวรัส โดยเฉพาะส่วนที่จะมายึดติดกับเซลล์ของมนุษย์ ที่เรียกว่าตัวรับ หรือ ACE2 ในตำแหน่ง กรดอะมิโนที่ 501 โดย แต่เดิมแอสพาราจีน (N) เปลี่ยนเป็นไทโรซีน (Y) และเข้าใจว่า จะทำให้การเกาะได้ดีขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงอีกตำแหน่งหนึ่งที่จะทำให้ระบบ enzyme ตัดส่วนสไปรท์ ให้ไวรัสเข้าเซลล์ได้ดีขึ้น
รวมทั้ง การศึกษาทางด้านระบาดวิทยา
รายละเอียดทั้งหมดคงจะต้องรอการศึกษาในแนวลึกต่อไป
การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรค และไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทาน ดังนั้นวัคซีนที่ใช้อยู่ในขณะนี้จึงยังมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม