xs
xsm
sm
md
lg

"หมอธีระ"แนะปรับกลยุทธ์สู้โควิดระลอกสอง ตรวจเชิงรุกได้ทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ต้องรอเข้าเกณฑ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า

ของเราตอนนี้ สถานการณ์วิกฤต มีรายงานเคสติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวกระจายไปหลายจังหวัดแบบดาวกระจาย

วิเคราะห์มาตรการที่มีตอนนี้อ่อนเกินกว่าที่จะควบคุมการระบาดได้ในเวลาอันสั้น

ลักษณะการติดเชื้อจำนวนมากในการระบาดซ้ำนี้ มักไม่สามารถฟันธงต้นตอได้อย่างชัดเจน และมักมีการแพร่กันต่อหลายทอดก่อนจะเกิดปรากฏการณ์ที่ตรวจพบ ดังนั้นจึงมีการติดเชื้อในกลุ่มคนที่หลากหลายในชุมชนได้

ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในการสู้ จึงไม่ใช่ตรวจ 5,000 คน หรือหลักหมื่นคนแบบสุ่มตรวจตามที่ตั้งเป้าจะปิดเคส แต่จำเป็นต้องตรวจให้มากที่สุดเท่าที่กำลังเราจะพึงมี ทำอย่างต่อเนื่อง และหาหนทางในการขยายศักยภาพการตรวจให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

ที่สำคัญคือ ต้องตรวจได้ทุกคนทุกที่ทุกเวลา ไม่ใช่ตั้งเกณฑ์อาการต่างๆ หลายขั้นจนสุดท้ายไม่สามารถตรวจได้เพราะติดเกณฑ์

ชัดเจนว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีติดเชื้อแฝงในชุมชนโดยไม่รู้ว่าใครติดบ้าง แถมคนที่ติดเชื้อนั้น ก็มีทั้งแบบมีอาการ และไม่มีอาการ แต่ทั้งสองแบบก็สามารถแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้

โจทย์หลักในการต่อสู้ระลอกสอง/ระบาดซ้ำแบบนี้ จึงต้องมุ่งตรวจหาเพื่อให้เจอ ไม่ใช่รอให้มีอาการ ให้เข้าเกณฑ์ หรือมีประวัติเสี่ยงแบบเป๊ะๆ ตามที่กำหนด

ดีแค่ไหนแล้ว ที่ประชาชนประเมินตนเอง และเดินทางมาขอรับการตรวจ นี่เป็นการแสดงระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ ความใส่ใจของประชาชน ที่ควรได้รับการชมเชย และให้บริการตรวจให้จบกระบวนการ ติดจะได้ไปรักษาต่อ ไม่ติดจะได้เบาใจและตั้งการ์ดป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัดต่อไป

ต้องมองว่าเป็นการลงทุนเพื่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน จึงต้องตรวจทั้งคนไทย คนต่างด้าวไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฏหมาย ไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่รัฐ/กระทรวงจำเป็นต้องทบทวนอย่างเร่งด่วน คือ ระบบการจัดการดูแลแรงงานต่างด้าวในพื้นที่มหาชัย

หนึ่ง เรื่องการนำคนที่ติดเชื้อไปกักตัวในพื้นที่เดียวกับคนที่ไม่ติดเชื้อ เพราะมีโอกาสสูงที่จะเกิดการแพร่เชื้อได้ และหากเกิดการติดเชื้อขึ้น จะมีการระบาดหนักทั้งกลุ่ม และถือเป็นการผิดหลักจริยธรรมทางการแพทย์ และหลักมนุษยธรรม

สอง เรื่องการกระทำใดๆ ที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อแรงงานต่างด้าว เพราะแม้จะลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฏหมาย แต่ทุกคนก็เป็นมนุษย์ การกักขังหรือการปฏิบัติใดๆ จำเป็นต้องใคร่ครวญให้รอบคอบ

สาม ควรตอบคำถามให้ได้ว่า มีตัวบทกฏหมายใดรองรับในการจัดระบบกักตัวแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ และได้ปฏิบัติตามหลักวิชาการจริงหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น หากใช้พรบ.โรคติดต่อ โดยจะทำการกักตัวหรือแยกกักนั้น ย่อมหมายถึงการกักตัวผู้ติดเชื้อ หรือแยกตัวผู้ติดเชื้อไปกักไว้ในสถานที่ที่กำหนด มิใช่การนำไปรวมกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อ

สามเรื่องข้างต้นเป็นประเด็นสำคัญยิ่ง Transmission risk, Human rights, และ Isolation standard

หากไม่ทบทวนและวางแผนจัดการให้ดี อาจทำให้มีปัญหาตามมาในอนาคต

ด้วยรักต่อทุกคน