วันนี้ (20 ธ.ค.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร โดยมี พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการโรคติต่อกรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงได้เชิญคณะกรรมการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมหารือด่วน เพื่อเตรียมมาตรการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ 689 ราย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว โดยในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นคนไทยในพื้นที่กรุงเทพฯ 3 ราย ซึ่งสอบสวนโรคแล้วมีความเกี่ยวข้องกับการซื้อขายส่งอาหารทะเลที่จังหวัดสมุทรสาคร
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการค้นหาผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดทั้งเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำเพื่อตรวจค้นหาเชื้อ พร้อมทั้งเดินหน้าปฏิบัติการตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคแล้ว
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง พบว่าสถานที่เสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้แก่ ตลาด วัด และสวนสาธารณะ เนื่องจากเป็นสถานที่ทำงาน สถานที่พบปะของแรงงานต่างด้าว และเป็นสถานที่ที่แรงงานต่างด้าวนิยมเดินทางไปประกอบกิจกรรมจำนวนมากในช่วงวันหยุด รวมทั้งเป็นสถานที่ที่ประชาชนเข้าไปใช้บริการในชีวิตประจำวันด้วย ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ดังนี้
1. ปิดโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครในพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร เช่น เขตบางขุนเทียน บางบอน และหนองแขม จำนวน 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2563 - 4 มกราคม 2564 โดยจะจัดการเรียนการสอนเสริมและให้โรงเรียนจัดการเรียนออนไลน์ทดแทน ทั้งนี้ เนื่องจากโรงเรียนในพื้นที่ดังกล่าวมีนักเรียนและบุคลากรบางส่วนเดินทางมาจากจังหวัดสมุทรสาคร ส่วนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครในพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งที่ไม่ได้สังกัดกรุงเทพมหานคร ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้อำนวยการเขตและผู้บริหารสถานศึกษา พิจารณาปิดโรงเรียนตามความเหมาะสมเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรในโรงเรียน
2. ให้ข้าราชการและบุคลากรกรุงเทพมหานครที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดสมุทรสาคร หรือเดินทางไป-กลับ ระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดสมุทรสาคร ให้ปรับเปลี่ยนเป็นทำงานที่บ้าน (work from home) รวมทั้งขอความร่วมมือหน่วยงานอื่น ตลอดจนหน่วยงานภาคเอกชน พิจารณาให้บุคลากรในสังกัดทำงานที่บ้าน (work from home) ด้วยเช่นกัน
3. ขอความร่วมมือภาครัฐและเอกชนงดจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก เช่น งานเทศกาลปีใหม่ กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี และงานรื่นเริงต่างๆ หากไม่สามารถระงับการจัดงานได้ ขอให้ลดจำนวนผู้เข้าร่วมงาน เพื่อให้มีระยะห่าง และจะต้องดำเนินมาตรการตรวจคัดกรองผู้ที่เข้าร่วมงานอย่างเข้มข้น โดยจะต้องยื่นขออนุญาตพร้อมจัดทำแผนป้องกันการแพร่ระบาดที่สำนักอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 2 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ได้พิจารณาทบทวนการจัดกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ กิจกรรมวันพระเจ้าตากสินมหาราช ให้คงไว้เฉพาะกิจกรรมทางศาสนา และการบวงสรวงดวงพระวิญญาณ โดยให้งดจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งหมดบริเวณถนนลาดหญ้า เขตคลองสาน ส่วนกิจกรรมในเทศกาลปีใหม่ ให้งดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี คงเหลือเฉพาะพิธีทำบุญตักบาตรในวันขึ้นปีใหม่ โดยจะกำหนดให้มีผู้ร่วมงานจำนวนไม่มากนักเพื่อรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล
4. ประสานกองบัญชาการตำรวจนครบาล จัดตั้งด่านคัดกรองแรงงานต่างด้าวเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ 4 เส้นทาง ได้แก่ ถนนเพชรเกษม ถนนพระรามที่ 2 ถนนบรมราชชนนี และถนนชายทะเลบางขุนเทียน ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเริ่มตั้งแต่ 18.00 น. วันนี้ (20 ธ.ค. 63) เป็นต้นไป รวมทั้งประสานการรถไฟแห่งประเทศไทยระงับการเดินทางของแรงงานต่างด้าวที่จะโดยสารรถไฟจากจังหวัดสมุทรสาครเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายและควบคุมแรงงานต่างด้าวเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ
5. งดใช้สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครเพื่อการรวมตัวหรือพักผ่อนหย่อนใจ แต่อนุญาตให้ใช้เฉพาะการออกกำลังกายเท่านั้น
6. จัดเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจค้นหาเชื้อโควิด-19 ในแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในตลาดสดทุกแห่งทั่วกรุงเทพฯ จำนวน 472 แห่ง รวมถึงสุ่มตรวจพ่อค้าแม่ค้าคนกลางที่มีการติดต่อซื้อขายสินค้าอาหารทะเลจากจังหวัดสมุทรสาคร
7. ให้สำนักงานเขตดำเนินการคัดกรองเชื้อโควิดในแรงงานต่างด้าวภายในแคมป์คนงานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ตามที่ได้มีการสำรวจไว้แล้วให้ครบถ้วนทั้งหมดโดยเร็ว โดยจะทำการตรวจซ้ำกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการผิดปกติ โดยคิดค่าใช้จ่ายจากแรงงานต่างด้าวหรือนายจ้างแรงงานต่างด้าว
8. ขอความร่วมมือวัดต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ งดให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำกิจกรรมในวัดจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
9. ให้โรงเรียนในสังกัดคัดกรองผู้ปกครองของนักเรียนที่เป็นแรงงานต่างด้าว รวมทั้งนักเรียนที่เป็นบุตรหลานแรงงานต่างด้าว
10. ให้สถานประกอบการร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ เข้มงวดในการตรวจคัดกรองผู้ที่เข้าไปใช้บริการ โดยจะต้องสวมหน้ากากอนามัย และใช้แอปพลิเคชัน "ไทยชนะ 100% เว้นระยะห่างของโต๊ะอาหาร งดกิจกรรมการเต้น พร้อมให้สถานประกอบการหมั่นทำความสะอาดสถานที่ตามแนวทางปฏิบัติที่เคยกำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครขอให้ประชาชนทุกคนสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้านและอยู่ในที่สาธารณะ หากเดินทางไปใช้บริการตามสถานที่ต่างๆ ต้องลงทะเบียนหรือใช้แพลตฟอร์ม "ไทยชนะ" เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและสืบสวนโรคหากเกิดการแพร่ระบาดในสถานที่นั้นๆ พร้อมกันนี้ ขอให้มั่นใจว่า กรุงเทพมหานครจะดูแลประชาชนอย่างสุดกำลัง เพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบ และป้องกันการแพร่ระบาดระลอก 2 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกรุงเทพมหานครจะออกประกาศกรุงเทพมหานครเรื่องปิดสถานที่เสี่ยงในกรุงเทพฯ รวมถึงข้อปฏิบัติต่างๆ ให้พี่น้องประชาชนรับทราบในรายละเอียดต่อไป