น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมคนไทย 7,904 คน ในทุกอำเภอทั่วประเทศ ช่วงเดือนตุลาคม 2563 เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ว่า ช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา และเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่คนไทยยังนิยมเดินทางไปทำบุญ ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ รวมถึงขอโชคลาภ เงินทอง เรื่องการงาน และครอบครัว โดยประเมินว่าการทำบุญ และใช้จ่ายกิจกรรมความเชื่อ เช่น การดูดวง ของคนไทย ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในปีนี้ถึง 10,800 ล้านบาท
ทั้งนี้ ความเชื่อและศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะหากเกิดปัญหาหรือความเครียด คนไทยมักหันหน้าเข้าวัดหรือหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอพรและโชคลาภ จึงเชื่อว่ามีเงินสะพัดในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จำนวนมากในหลายจังหวัด ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยว รวมถึงกระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่น เพราะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของไทยมีกระจายทั่วทุกจังหวัด
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการเดินทางไปทำบุญแล้ว ยังพบว่าคนไทยยังนิยมเข้าร่วม และใช้จ่ายกิจกรรมความเชื่ออื่นๆ ด้วย เช่น การดูดวงชะตาผ่านราศี วัน เดือน ปีเกิด การดูลายมือ ไพ่ยิปซี ดูโหงวเฮ้ง ร่างทรง นั่งทางใน ซึ่งค่าใช้จ่ายมีตั้งแต่หลักสิบบาทจนถึงหลักพัน อีกทั้งยังมีการบูชา เช่าพระเครื่อง เพื่อเก็งกำไรที่มีมูลค่าสูงหลักล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การทำบุญส่วนใหญ่ หากเป็นประชาชน นักเรียน นักศึกษาจะทำเฉลี่ย 100-200 บาท แต่ถ้ามากกว่านั้นจะเป็นกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐ และนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ โดยส่วนมากนิยมบริจาคผ่านตู้ทำบุญ รองลงมาเป็นการถวายสังฆทาน บูชาเครื่องรางของขลัง สะเดาะเคราะห์ และเสี่ยงเซียมซี ยกพระเสี่ยงทาย และที่สำคัญยังพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังเดินทางไปทำบุญเป็นปกติเท่าเดิมมากถึงร้อยละ 44.98 และยังมีอีกร้อยละ 11.07 ที่อยากเดินทางไปเพิ่มขึ้น ส่วนที่ลดลงมีร้อยละ 43.95