นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีกลุ่มราษฎร 2563 ได้จัดการชุมนุมกันเมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมาโดยเริ่มจากบริเวณสามย่านเคลื่อนไปยังถนนพระราม 4 และมาปักหลักบริเวณหน้าสถานทูตเยอรมัน ถ.สาทรใต้ พร้อมยื่นหนังสือไปยังเอกอัครราชทูตฯ โดยมีข้อเรียกร้องในลักษณะกล่าวหาสถาบันกษัตริย์อย่างรุนแรง พร้อมกับกระทำการยุยงปุกปั่นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ฝ่าฝืนกฎหมายความมั่นคง และขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสังคม อันมิได้เป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
อีกทั้งมีพฤติการณ์และหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ที่ก้าวล่วงศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ม.6 บัญญัติไว้ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” กลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวล้วนล่วงละเมิดกฎหมายอาญาแผ่นดินหนักๆหลายข้อหา ดังนี้
ข้อหาที่ 1 ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตาม ป.อาญา ม.112 ข้อหาที่ 2 ข้อหกบฏ ตาม ป.อาญา ม.113 ข้อหาที่ 3 ข้อหาก่อความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตาม ป.อาญา มาตรา 116 ที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ (3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี
ข้อการที่ 4 ข้อหามั่วสุม 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตาม ป.อาญา มาตรา 215 ที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อหาที่ 5 ข้อหากีดขวางทางสาธารณะ ตาม ป.อาญา มาตรา 385 ที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดโดยไม่ได้รับอนุญาตอันชอบด้วยกฎหมายกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวาง หรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด ถ้าการกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยไม่จำเป็น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท
ข้อหาที่ 6 ข้อหาฝ่าฝืนการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ขออนุญาต ตาม พรบ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ข้อหาที่ 7 ข้อหากีดขวางจราจร พ.ร.บ.ทางบก ม.114 และ ม.148 ข้อหาที่ 8 ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 ม. 4 และ 9 และข้อหาที่ 9 ข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ป.อาญา ม.368 จำคุก 10 วัน ปรับ 5 พันบาท
ความผิดทั้งหมดดังกล่าว เป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจที่จะสามารถกล่าวโทษ ดำเนินการออกหมายเรียกหรือหมายจับมาทำการสอบสวน เอาผิด ตามครรลองของกฎหมายได้เลย โดยมิจำต้องรอให้ผู้ใดมาแจ้งความกล่าวโทษ เพราะเป็นความผิดอาญาของแผ่นดิน ซึ่งถ้าตำรวจไม่รีบจัดการ อาจมีความผิดตาม ป.อาญา ม.157 ได้