xs
xsm
sm
md
lg

ไทยมีความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คาดทดลองในคนระยะที่ 1 ต้นปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า มีความคืบหน้าไปมาก โดยได้ประสานความร่วมมือจัดสรรงบประมาณสำหรับวิจัยและพัฒนาวัคซีน ผ่านสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อไปสนับสนุนผู้ที่กำลังวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยขณะนี้ในประเทศไทยมี 7 เทคโนโลยีการผลิต จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 9 หน่วยงาน มีทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งที่ก้าวหน้ามากที่สุดและอยู่ระหว่างเตรียมทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 คือ วัคซีนชนิด MRNA ที่พัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและการพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัคซีนชนิด DNA ผลิตโดยบริษัท ไบโอเนทเอเชีย จำกัด และวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการสกัดโปรตีนจากพืช โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งผู้วิจัยได้เข้าหารือกับหน่วยงานด้านควบคุมกำกับคุณภาพวัคซีนของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เป็นไปตามมาตรฐานสากล และอยู่ระหว่างการแสวงหาความร่วมมือหรือพัฒนาศักยภาพในด้านการขยายการผลิต เพื่อผลิตวัคซีนต้นแบบสำหรับทดสอบในมนุษย์ ซึ่งตามแผนที่วางไว้ คือ ไตรมาส 1 ของปี 2564 โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ทุกกระบวนการผ่านไปได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขยังเร่งจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุม 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร คือ การจองล่วงหน้าผ่านโครงการโคแวกซ์แฟซิลิตี (COVAX Facility) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยมอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับกรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อและบริหารวัคซีนในประเทศ เร่งประสานความร่วมมือ เพื่อให้ไทยเข้าถึงวัคซีนในโครงการนี้ได้ ซึ่งโครงการนี้รวบรวมผู้วิจัยและพัฒนาวัคซีนถึง 20 ราย หากรายใดรายหนึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน ไทยก็จะมีโอกาสเป็นประเทศแรกๆ ที่จะเข้าถึงวัคซีนดังกล่าวได้

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเจรจาความร่วมมือแบบทวิภาคีกับผู้ผลิตวัคซีนที่กำลังทดสอบวัคซีนในคนในระยะที่ 3 ทั้งในเอเชียและยุโรป เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนได้มากยิ่งขึ้น โดยไทยได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงค์ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนโควิด-19 กับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะทำให้ไทยเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ในลำดับแรกๆ

ด้านนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า วัคซีนที่ผลิตในประเทศไทย ได้วางแผนการทดสอบในคน จนกว่าจะผ่านระยะที่ 1 และ 2 ให้เห็นผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน จากนั้นจะนำผลไปเทียบกับต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้น หาก ณ เวลานั้น มีวัคซีนจากต่างประเทศที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลในการป้องกัน ไทยก็จะเทียบเคียงกับวัคซีนที่ได้ผลแล้ว และให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบว่าวัคซีนของไทยดีเพียงพอในการจะนำมาใช้ เทียบเท่ากับของต่างประเทศหรือไม่ ส่วนการทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 3 ของไทย อาจจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการทดสอบในระยะที่ 3 จะต้องทดสอบในพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างหนัก ไทยมีการควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง จึงอาจจะทำความร่วมมือทดสอบกับประเทศอื่นที่มีการระบาดแทน ซึ่งเบื้องต้นได้เจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่มีการระบาดแล้ว