xs
xsm
sm
md
lg

กอนช.เตือน 6 จังหวัดเฝ้าระวังน้ำท่วม น้ำป่า ดินโคลนถล่ม 2-5 ต.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงนามในประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ลงวันที่ 30 กันยายน 2563 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม ฉบับที่ 8 ระบุว่า

ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 2-5 ตุลาคม 2563 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง ส่งผลให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งนั้น

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินปริมาณฝนคาดการณ์จากแผนที่ฝน ONEMAP และข้อมูลพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากของกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำบริเวณภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 2-5 ตุลาคม 2563 ดังนี้

1. เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม จังหวัดปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด

2. เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 90 ประกอบด้วย

2.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำขุด่านปราการชล จังหวัดนครนายก และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง
2.2 อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 10 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองวันบอน จังหวัดนครนายก อ่างเก็บน้ำทับลาน อ่างเก็บน้ำคลองไม้ปล้อง จังหวัดปราจีนบุรี อ่างเก็บน้ำศาลทราย จังหวัดจันทบุรี อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ จังหวัดระยอง รวมถึงอ่างเก็บน้ำเขาระกำ อ่างเก็บน้ำบ้านมะนาว อ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง อ่างเก็บน้ำคลองสะพานหิน และอ่างเก็บน้ำวังปลาหมอ จังหวัดตราด

กอนช. จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

1. ติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง หรือพื้นที่เสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังซ้ำซากและมีสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ

2. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมในการอพยพได้อย่างทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์

3. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาความเหมาะสมในการบริหารน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 90 หรือเกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) เพื่อมิให้ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งเตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อเป็นแก้มลิงในการหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก

4. เตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุรับมืออุทกภัย บุคลากร และเครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อบูรณาการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน