เพจเฟซบุ๊กองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน โพสต์ข้อความระบุว่า สุสานบ้านเอื้ออาทร มรดกบาปคอร์รัปชั่น ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 63 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง องค์คณะผู้พิพากษา 9 คน นัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้าย คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ หมายเลขดำ อม.42/2561 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัฒนา เมืองสุข อายุ 62 ปี อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยุครัฐบาลทักษิณ 2 สมาชิกพรรคเพื่อไทย, นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการปี 2548–2549, นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย, นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่, นายอริสมันต์ หรือกี้ร์ พงษ์เรืองรอง อายุ 56 ปี อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย (ศาลออกหมายจับไว้ ปัจจุบันหลบหนีระหว่างพิจารณาคดี) และกลุ่มเอกชน รวม 14 ราย เป็นจำเลย การทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร เป็นการทุจริตโครงการประชานิยมขนาดใหญ่ที่มีเรื่องอื้อฉาว ตั้งแต่เริ่มต้น มีการกล่าวหาเรื่องการทุจริต ตั้งแต่ขั้นตอนการซื้อที่ดิน การเลือกบริษัทรับเหมา ถึงขนาดที่ว่า มีนายหน้าซื้อขายที่ดินโครงการหนึ่งเปิดโปงว่ามีการเรียกเก็บหัวคิวหน่วยละ 11,000 บาท
สำหรับโครงการนี้ เป็นผลจากนโยบายประชานิยม ของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศมีบ้านทุกคน จึงวางโครงการก่อสร้างบ้านราคาถูก 6 แสนหน่วย ใช้งบประมาณนับแสนล้านบาท และมอบให้การเคหะแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยมีนายวัฒนา เมืองสุข เป็นรัฐมนตรีว่าการ ในขณะนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ ในเวลาต่อมา ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กับพวก กระทำการทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร และส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการส่งฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งในคดีนี้นายวัฒนากับพวก ถูกกล่าวหาเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการเอกชนให้ได้โควตาเป็นคู่สัญญาจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทรกับการเคหะแห่งชาติ 7 โครงการ 7,500 ยูนิต อาจเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบมาตรา 157 และเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจโดยมิชอบ เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการ มาตรา 148 มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต
ในกระบวนการจัดสรรโควตาของโครงการบ้านเอื้ออาทร นักการเมืองเป็นผู้ผลักดันระบบจัดสรรโควตา และแต่งตั้งบุคคลที่ตนไว้วางใจเข้ายึดกุม ใช้อำนาจในกระบวนการจัดสรรโควตาตามระบบดังกล่าว มีการสั่งให้ประธานคณะกรรมการกลั่นกรอง นำข้อเสนอของบริษัท พาสทีญ่าฯเข้าสู่การรับรอง ทั้งที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบตามขั้นตอน เงินล่วงหน้าที่ได้จากสัญญานี้มิได้นำไปใช้ในการพัฒนาโครงการทั้งหมด แต่ปรากฏว่า ได้นำมาเข้าบัญชีและแยกประเภทไว้เป็นรายการค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ โดยพยานในส่วนของภาคเอกชนระบุว่า กันเงินไว้จ่ายให้แก่นักการเมือง
เส้นทางการเงินนั้นได่ไหลไปรวมอยู่ในบัญชีบริษัทค้าข้าวอื้อฉาวแห่งหนึ่ง จำนวน 82.5 ล้านบาท ตรงกันพอดีกับจำนวนที่พยานยืนยันว่า มีการเรียกรับเงินหน่วยละ 11,000 บาท จำนวน 7,500 หน่วย โดยผู้บริหารบริษัทนั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมือง
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่านโยบายของรัฐบาล จะดีเพียงไหนก็ตาม แต่ถ้ามีบางคน คิดที่จะแสวงหาผลประโยชน์จาก งบประมาณภาษีของประชาขนแล้ว เขาเหล่านั้นสามารถแสวงหาผลประโยชน์ได้ในทุกๆ ขั้นตอน ส่วนคนที่สูญเสียมากที่สุดก็จะใช่ใครที่ไหนนอกเสียจากคือ คนไทยที่เป็นผู้เสียภาษี นั่นเอง
ดังนั้น วันนี้ เราคนไทยเจ้าของภาษีต้องตื่นขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ชาติ จากนักการเมืองที่จ้องจะแสวงหาผลประโยชน์จากเงินภาษีของพวกเราตลอดเวลา ต้องสนับสนุนให้มีการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในการลงโทษผู้ที่แสงหาผลประโยชน์จากเงินภาษีของคนไทยทุกคน