ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา thiravat hemachudha ระบุว่า ต้องไม่หลุด คือหัวใจการคัดกรอง
ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้โดยผู้ที่มีอาการหนักเริ่มน้อยลงการป้องกันไม่ให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นไปอีกอยู่ที่การตรวจเชิงรุกในผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยแต่แพร่เชื้อได้
การตรวจเชิงรุกทำได้โดยการตั้งจุดตรวจหรือหน่วยเคลื่อนที่ ที่สามารถแยงจมูกและลำคอ หา สารพันธุกรรมเชื้อ ด้วยวิธื pcr หรือด้วยการตรวจหาแอนติเจนของเชื้อซึ่งทราบผลรวดเร็วเป็นนาที แต่ผลไม่100% และหลุดรอดได้
หรือด้วยการตรวจเลือดที่สามารถเจาะปลายนิ้วได้และทำการตรวจที่ทราบผลได้ภายใน 2 นาที ชุดตรวจของบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ริเริ่มโดยใช้โปรตีนที่ผลิตได้ในใบยาพืช โดยที่วิธีการตรวจนี้หาหลักฐานการติดเชื้อคือแอนตี้บอดี้ในเลือด ซึ่งจะปรากฏให้เห็นเริ่มตั้งแต่สี่วันหลังติดเชื้อแม้ไม่มีอาการ และต้องมีความไวสูง นั่นคือไม่หลุดรอดไป แต่มีผลบวกปลอมได้
แต่สามารถนำเลือดไปตรวจยืนยันด้วยวิธีมาตรฐานของห้องปฏิบัติการศูนย์โรคอุบัติใหม่กาชาดจุฬาซึ่งทราบผลภายใน 3 ชั่วโมง ถ้าผลเป็นบวกก็ทำการตรวจหาเชื้อว่ายังมีการแพร่เชื้ออยู่หรือไม่
สิ่งที่กังวลในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ คือการ
กลับมาจากแรงงานต่างประเทศและจากการที่ไม่รักษาวินัยอย่างที่เคยทำมา
บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เป็นบริษัทสตาร์ทอัพ จากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CU Innovation Hub ซึ่งที่ผ่านมาคิดค้นวิจัยจนสามารถผลิตชุดทดสอบ COVID-19 : ชุดตรวจแอนติเจนและแอนติบอดีของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือเรียกง่ายๆว่า เป็นชุดตรวจแอนติบอดีในการตรวจหาภูมิคุ้มกันของผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 (โควิด-19) นั่นเอง และล่าสุดยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19และแอนติบอดียับยั้งเชื้อไวรัส จากใบยาสูบ
ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CEO และ Co-founder ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และ รศ. ดร.วรัญญู พูลเจริญ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CTO และ Co-founder ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้บุกเบิกบริษัทใบยาสูบ พร้อมกับทีมนักวิจัยได้ร่วมกันพัฒนาเทคนิคการได้โปรตีนมาจากใบยาสูบ ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีการใช้กันในหลายประเทศทั่วโลก และไทยได้นำมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์กรณีเกิดการระบาดระลอก 2 เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์การระบาดโควิดอีกทางหนึ่ง