น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวถึงเรื่องการแพทย์ปฐมภูมิ ว่า เป็นการปฏิรูปสาธารณสุขครั้งใหญ่ นอกเหนือจากการปฏิรูปในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2545 เพราะการแพทย์ปฐมภูมิจะมีหน่วยบริการปฐมภูมิ ซึ่งหากจัดตั้งได้ครบตามแผนกระจายไปทั่วประเทศ จะมีแพทย์ 3 คน ต่อประชาชน 30,000 คน ด้วยหลักการกระจายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลใหญ่ เพราะทุกวันนี้ประชาชนไปใช้บริการในโรงพยาบาลใหญ่เป็นจำนวนมาก หากสามารถกระจายผู้ป่วยไปสู่หน่วยปฐมภูมิได้ จะช่วยลดความคับคั่งแออัดลง และถ้าทำได้ตามวัตถุประสงค์ อนาคตอาจไม่มีการเดินเข้าไปโรงพยาบาล ต้องไปผ่านปฐมภูมิก่อน ซึ่งในหลายประเทศ ยกตัวอย่างที่ญี่ปุ่น จะใช้คลินิกเอกชนเป็นปฐมภูมิจะเห็นว่าหน่วยปฐมภูมิไม้ได้ทำเฉพาะเรื่องของการรักษาอย่างเดียว เรียกว่าทำหน้าที่ส่งเสริมป้องกันโรคด้วย หากสามารถเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับบทบาทจากสถานีอนามัยเดิมให้เป็นโรงพยาบาลในหน่วยที่ย่อยที่สุดของกระทรวงฯ แล้ว สามารถที่จะทำงานประสานกับ อสม. ที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ ในการกระจายเรื่องส่งเสริมป้องกันโรคให้กับประชาชน จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ที่คือเป้าหมายและวัตถุประสงค์ แต่ปัญหาคือเรื่องความพร้อมของบุคลากร โดยเฉพาะแพทย์จำเป็นต้องฝึกอบรมให้มีความพร้อม จึงจะสามารถกระจายไปได้ทุกพื้นที่ ซึ่งในขณะนี้ได้ให้แพทย์ที่เกษียณอายุราชการเข้ามาช่วย หรือแพทย์ที่เต็มใจทำงานทางด้านปฐมภูมิไปฝึกอบรม สามารถไปให้บริการประชาชนได้ในที่สุด