ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤษภาคม 2563 ว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤษภาคม 2563 หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน เนื่องจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในประเทศที่มีทิศทางดีขึ้น ส่งผลให้ทางการเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้บางส่วน
ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวน้อยลง ตามการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันที่หดตัวน้อยลง ผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวน้อยลงจากผลผลิตปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้นตามการบริโภค การลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องในทุกหมวดตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวมากขึ้นตามการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่กลับมาหดตัว หลังเร่งผลิตและส่งออกในเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวชะลอลงจากรายจ่ายประจำหลังจากที่เร่งไปมากในเดือนก่อน
อย่างไรก็ตาม รายจ่ายลงทุนกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น จากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่หดตัวต่อเนื่อง ประกอบกับค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปาที่ลดลงตามมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ และราคาอาหารสดที่ชะลอลง ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นมาก
สำหรับภาคการเงิน เดือนเมษายน 2563 เงินฝากคงค้างขยายตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน จากเงินฝากออมทรัพย์ตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ที่ภาครัฐเริ่มโอนให้ผู้มีสิทธิ์ในเดือนนี้ ด้านยอดสินเชื่อคงค้างขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน โดยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวจากสินเชื่อครัวเรือน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง ขณะที่สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวสูงขึ้น จากสินเชื่อเสริมสภาพคล่องของธุรกิจ และมาตรการพักชำระหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบของโควิด-19