ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำสั่งที่ 40/2563 กรณีนายประชา ประสพดี ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 เนื่องจากในระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการประทรวงมหาดไทย มีผู้กล่าวหาต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า นายประชา ใช้อำนาจรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการดำเนินงานของคณะกรรมการองค์การตลาด โดยสั่งให้ชะลอการประชุมคณะกรรมการองค์การตลาด เพื่อช่วยเหลือผู้อำนวยการองค์การตลาด ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต
จนทำให้ ป.ป.ช.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง และมีมติว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 และเป็นความผิดอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวมทั้งมีการส่งเรื่องไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการถอดถอนนายประชา ออกจากตำแหน่ง เป็นผลให้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่ากรณีที่ ป.ป.ช.มีมติดังกล่าวและส่งเรื่องให้ สนช.ดำเนินการถอดถอนออกจากตำแหน่งนั้น เป็นมติและการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่
และกรณี สนช.พิจารณาวินิจฉัยและลงมติถอดถอนนายประชา ออกจากตำแหน่ง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่ เนื่องจากไม่มีการยื่นคำร้องขอให้ถอดถอนตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 270, 271, 272, 273, 274 จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยนายประชา ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนมติของ ป.ป.ช. และ สนช. โดยให้มีผลย้อนหลังให้ถือว่านายประชาไม่เคยถูก สนช.ถอดถอนออกจากตำแหน่ง
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดลง มีประกาศ คสช.ฉบับที่ 24/2557 ให้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 มีผลบังคับใช้ต่อไป และรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่วุฒิสภา ดังนั้นการที่ ป.ป.ช.มีมติดังกล่าว และเสนอเรื่องให้ สนช.ถอดถอนนายประชา จึงเป็นการกระทำที่อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 มาตรา 66 มาตรา 56 ดังนั้น ป.ป.ช.และ สนช. มีอำนาจดำเนินการตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของนายประชา ตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง ประกอบกับการจะใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 213 นั้น ต้องเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และต้องไม่เป็นกรณีที่ยุติแล้ว แต่กรณีที่นายประชา ร้องเป็นการขอให้พิจารณาวินิจฉัยการกระทำที่มีข้อเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นและยุติแล้ว ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ จึงไม่อาจยื่นคำร้อง โดยอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย