รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี โพสต์เฟซบุ๊ก Thanachart Numnonda ระบุว่า เห็นกระแสการตื่นตัวเรื่องการหายตัวไปของนายวันเฉลิม นับเป็นเรื่องดี แต่จริงๆ แล้วเราควรไปศึกษากรณีการบังคับให้สูญหายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย รายงานของสหประชาชาติชี้ให้เห็นว่า มีถึง 86 ราย และถ้าเราดูกันลึกจริงๆ มีมาทุกยุคทุกสมัย แทบทุกรัฐบาลบางช่วงรัฐบาลจากการเลือกตั้งก็มีการสูญหายจำนวนมาก ซึ่งคงต้องไปดูกันจริงๆว่าเกี่ยวข้องกับผู้ใด บางครั้งก็อาจเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่บางส่วน
กรณีนายวันเฉลิมน่าสนใจที่ฝ่ายการเมืองพยายามปลุกกระแสขึ้นมา ทั้งๆ ที่คนจำนวนมากอาจแทบไม่ทราบมาก่อนเลยว่าเขาคือใคร ในฐานะที่ส่วนตัวติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ลี้ภัย และฝ่ายต่อต้านในต่างประเทศต้องยอมรับเลยว่า แม้จะรู้จักชื่อคนมากมายทั้ง ดร.ปวิน, จรัล, สุนัย, Andrew, จอม, สมศักดิ์ และอีกสารพัดชื่อในยุโรปและอเมริกา หรือกลุ่มที่เคยสาบสูญอย่างที่เคลื่อนไหวแถวประเทศอินโดจีนอย่างสุรชัย ลุงสนามหลวง โกตี๋ แต่ผมไม่รู้จักชื่อวันเฉลิมมาก่อน ก็เลยแปลกใจว่าทำไมต้องอุ้มและปลุกกระแสให้เขาเป็นข่าว การถูกอุ้มและบังคับสูญหายไม่ควรเกิดขึ้น บางกรณีอย่างแถวประเทศลาวชัดเจนว่า เป็นประเด็นการเมือง และคนที่หายไปนี่เป็นที่รู้จักและเป็นตัวการสำคัญ แต่กรณีวันเฉลิมนี้น่าแปลกใจว่า ทำไมต้องเป็นเขา และเขาคือใครที่แม้แต่คนติดตามกลุ่มเหล่านี้ระดับหนึ่งอย่างผมยังไม่รู้จัก แล้วทำไมต้องไปอุ้มให้เป็นกระแสทางการเมือง
ดังนั้นไหนๆ เราจะปลุกกระแส Enforced and involuntary disappearance แล้ว ควรจะมองทั้งหมด ทุกคนที่เกิด ทุกรัฐบาล และสิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไป แต่อย่าแค่ปั้นให้เกิดกระแสการเมืองเฉพาะบางคน ที่ไม่ทราบชัดเจนว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์อุ้ม เพียงเพื่อหวังผลการเมืองของคนบางกลุ่มที่ต้องการสร้างกระแส