xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์เตือนไม่ควรฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในพื้นที่กว้างใน-นอกอาคาร-ถนน เพื่อลดโควิด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊ก
“หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC”ระบุว่า การฉีดพ่นน้ำยาเคมีกำจัดเชื้อโรคพื้นที่กว้างใหญ่นอกอาคาร บนทางเดิน ถนน และในตัวอาคาร เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

ไวรัสโควิด-19 เป็นไวรัสที่มีเยื่อหุ้มชั้นนอกเป็นไขมัน เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมนอกร่างกาย ถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อน แสงแดด รังสียูวี สบู่ ผงซักฟอก แอลกอฮอล์ และสารเคมีต่างๆ

องค์การอนามัยโลก กระทรวงสาธารณสุข และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ได้เตือนถึงผลเสียของการใช้เครื่องพ่นและท่อขนาดใหญ่พ่นละอองน้ำยากระจายในอากาศและสิ่งแวดล้อมทั่วไปบนผิวพื้นที่ที่ยังไม่ทำความสะอาด เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม และมีอันตรายต่อผู้สัมผัส สิ้นเปลืองไม่ได้ประโยชน์

ไม่ควรฉีดพ่นน้ำยาใส่เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มขณะที่คนสวมใส่ และร่างกายภายนอก นอกจากไม่ช่วยลดการแพร่ไวรัสโควิด-19 แล้ว สารเคมีที่ใช้อาจเป็นอันตรายต่อผิวหนัง ตา และทางเดินหายใจได้
น้ำยาที่ใช้ฉีดพ่นส่วนใหญ่คือ โซเดียมไฮโปคลอไรท์ ต้องระวังไม่ให้สัมผัสผิวหนัง ตา หรือเข้าปากจมูก เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบ ปวดแสบปวดร้อนได้ นอกจากนี้ยังทำอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง เกิดอาการกำเริบได้

การฉีดพ่นควรทำเฉพาะบนพื้นผิวแคบๆที่ทำความสะอาดแล้ว โดยใช้ขวดสเปรย์ ฉีดพ่นน้ำยาเคมีกำจัดเชื้อโรคตามสิ่งของต่างๆ หลักการ คือต้องทำความสะอาดพื้นผิวก่อน เพราะสิ่งสกปรกจะทำให้ประสิทธิภาพของน้ำยาฆ่าเชื้อลดลง หลังจากนั้นใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดถูบนพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อย สารเคมีที่ใช้กันมากที่สุด คือน้ำและสบู่ ผงซักฟอก แอลกอฮอล์เข้มข้น 70% ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ เดทตอล น้ำยาฟอกผ้าขาว โซเดียมไฮโปคลอไรท์ ชื่อการค้า เช่นไฮเตอร์ และคลอร็อกซ์ ห้ามใช้น้ำยาฟอกผ้าขาวบนพื้นผิวที่เป็นโลหะ เพราะจะกัดกร่อนโลหะได้