xs
xsm
sm
md
lg

“รังสิมันต์”ชี้อย่าฉวยโอกาสรับฟังความเห็นแบบปาหี่นิคมอุตฯ จะนะ ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก “Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม”หัวข้อ “อย่าฉวยโอกาสรับฟังความเห็นแบบปาหี่ นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ระบุว่า ผมทราบมาว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีข้อเสนอให้ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าอนาคต เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยจะมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอดังกล่าว ซึ่งทั้งหมดนี้ได้มีมติ ครม. ออกมารองรับตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2563

อันที่จริงโครงการดังกล่าวเป็นโครงการลำดับท้ายๆ ที่รัฐบาลประยุทธ์ 1.เพิ่งอนุมัติไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2562 ในช่วงที่ผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว มีสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่แล้ว แต่ยังไม่มีการเลือกนายกรัฐมนตรี การที่รัฐบาล คสช. รีบเร่งอนุมัติโครงการโดยไม่รอให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาตรวจสอบเสียก่อนจึงสร้างความเคลือบแคลงสงสัยแก่ชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลวาระแอบแฝงอยู่ภายใต้โครงการนี้หรือไม่

ในปัจจุบันโครงการดังกล่าวปรากฏว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้มีการเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนเข้ามาร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วยกัน 3 ตำบล รวม 9 เวที ซึ่งเวทีแรกจะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ (14 พฤษภาคม 63) แล้ว ผมได้ยินมาว่าจะเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบลเท่านั้น ห้ามคนพื้นที่อื่นเข้าร่วม และยังกำหนดอีกด้วยว่าเวทีดังกล่าวจะมีผู้เข้าร่วมได้สูงสุดไม่เกิน 50 คนเท่านั้น

ความจริงแล้ว เรามีบทเรียนเรื่องการตั้งนิคมอุตสาหกรรมหลายที่ ซึ่งรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างที่มาบตาพุดที่ทุกวันนี้ก็ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นหนักหนาสาหัส การตั้งนิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้กลายเป็นช่องทางหาเงินของคนรวย แต่กลับกลายเป็นภาระทางสุขภาพของคนยากจนที่ต้องอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่อากาศดีๆ ยังหาไม่ได้ จนทั้งเงิน จนทั้งลมหายใจ

ด้วยบทเรียนแบบนี้จึงไม่แปลกที่พี่น้องประชาชนจะกังวลว่าสถานการณ์ความล่มสลายทางสิ่งแวดล้อมแบบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจะเกิดขึ้นในพื้นที่อื่น เช่นที่ อ.จะนะ

ในฐานะที่ผมเฝ้าติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และเป็นโฆษกกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ผมพอจะรับทราบว่าการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างนิคมอุตสาหกรรมนั้นจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนอย่างกว้างขวางไม่ใช่แค่พี่น้องประชาชนที่อยู่ใน อ.จะนะเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพี่น้องคนอื่นที่อาศัยอยู่ใน จ.สงขลา และอาจจะรวมถึงจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ตอนล่างด้วย

การให้พี่น้องประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก และต้องย้ำว่าการมีส่วนร่วมตรงนี้ไม่ใช่แค่ “สักแต่ร่วม” เท่านั้น แต่ยังต้องให้มีประชาชนใน อ.จะนะ หรือใน จ.สงขลา เข้ามามีบทบาทในการกำหนดชะตากรรมของพวกเขาเองด้วย ว่าโครงการแบบนี้จะให้เกิดขึ้นในชุมชนของพวกเขาได้หรือไม่ ถ้าได้จะต้องมีรูปแบบอย่างไร

ดังนั้นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในลักษณะที่ฝั่งรัฐบาลกำหนดไว้หมดแล้ว จึงเป็นเพียงละครปาหี่ที่ไม่ช่วยให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา อ.จะนะแต่ประการใด และหากพิจารณาต่อไปว่าการจัดเวทีดังกล่าวเกิดขึ้นในสถานการณ์ COVID-19 ที่ประชาชนให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพ และการรักษาระยะห่างทางสังคม อีกทั้งมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วประเทศเช่นนี้ ก็ยิ่งเป็นภาพที่ชัดเจนว่ารัฐบาลต้องการฉวยโอกาสนี้เพื่อตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้การตั้งนิคมอุตสาหกรรมใน อ.จะนะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีข้อขัดข้องให้น้อยที่สุด

นอกจากนี้ในช่วงเวลานี้ยังเป็นช่วงของการถือศีลอดตามหลักศาสนาอิสลาม ชาวบ้านในพื้นที่จะเกิดความอ่อนล้าเป็นพิเศษในเวลากลางวัน จึงยิ่งไม่สมควรที่จะจัดเวทีแบบนี้ในยามที่ชาวบ้านไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ผมจึงเห็นว่ารัฐบาลจะต้องระงับเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ อย่าฉวยโอกาสแบบนี้เลยครับ อย่าทำร้ายประชาชนไปมากกว่านี้เลย

ป.ล. ขอเป็นกำลังใจน้องย๊ะลูกหลานทะเลจะนะวัย 17 ปีที่ยืนหยัดต่อสู้เรื่องนี้หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา