นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค โพสต์เฟซบุ๊ก“หมอแก้ว ผลิพัฒน์”ระบุว่า มีคำถามน่าสนใจเข้ามา ๓ คำถาม
๑) ถ้าเปิดงานแล้ว ให้ทำงานที่บ้าน ใครจะส่งลูกๆ ไปโรงเรียน
๒) ถ้าเปิดงานก่อนเปิดโรงเรียน และไม่เป็น work from home ใครจะดูแลเด็กที่บ้าน
และ ๓) เด็กจะไปเรียนกันอย่างไรในปีการศึกษาหน้า การตอบคำถามนี้จริงๆ แล้วจะต้องดูสถานการณ์ควบคู่ไปด้วย คำตอบนี้ อาศัยสถานการณ์ปัจจุบันในการตอบคำถาม คำถามแรกตอบง่าย เด็กเคยไปโรงเรียนอย่างไร ก็ไปด้วยวิธีเดิม แต่ถ้าไปรถสาธารณะ อาจมีประเด็นความแออัดในรถสาธารณะได้ ซึ่งเป็นความเสี่ยง แต่สามารถลดความเสี่ยงได้หลายวิธี ซึ่งคนทั้งสังคมต้องช่วยกัน เช่น การใส่หน้ากากผ้า การเตรียมเจลแอลกอฮอล์ล้างมือไปด้วย การเหลื่อมเวลาทำงานเวลาเข้าเรียน การทำงานที่บ้านให้มากเท่าที่จะทำได้ การเพิ่มเที่ยวรถ เป็นต้น ส่วนคำถามที่ ๒ และ ๓ ของอธิบายเป็นหลักการให้แล้วกัน จะว่าไป ๒ คำถามนี้ตอบยากครับ เพราะเรายังมีเรื่องที่ยังไม่รู้เกี่ยวกับโรคนี้อีกมาก และเป็นเรื่องที่ต้อง balance ให้ดี ทั่วๆ ไป ถ้าเด็กติดเชื้อจะมีอาการน้อยมาก ประมาณ 40% มีอาการไข้ ประมาณครึ่งหนี่งมีอาการไอ พูดง่ายๆ ก็ถ้าโรงเรียนจะคัดกรองเด็ก ไม่ว่าจะคัดกรองอย่างไร ก็จะมีเด็กติดเชื้อเข้าโรงเรียนไปได้ค่อนข้างเยอะอยู่ดี ซึ่งเด็กที่ติดเชื้อเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดการระบาดเงียบ (silent outbreak) ในโรงเรียนได้ เด็กติดเชื้อเด็กไม่เป็นอะไรมากนักหรอกครับ เนื่องจากพวกเขาอาการไม่รุนแรง แต่ถ้าผู้ใหญ่ (ครู พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย) ติดเชื้อ (จากเด็ก) อาจมีอาการรุนแรงได้ในสัดส่วนที่มากกว่า โดยเฉพาะผู้สูงอายุอาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้มากกว่า
นั่นหมายความว่า เราต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อที่จะป้องกันไม่ไห้เด็กติดเชื้อและป้องกันไม่ให้มีการระบาดของโรคในโรงเรียน ไม่ใช่เพื่อปกป้องเด็ก (เพราะเด็กไม่น่าจะเป็นอะไรมากมาย อาการน้อย) แต่เพื่อปกป้องผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาจอาศัยอยู่บ้านเดียวกับเด็กๆ ปัญหาท้าทายที่จะตามมาอีกปัญหาหนึ่งก็คือ ถ้าพ่อ กับแม่ติดเชื้อ ต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล 14 วัน เด็กจะอยู่กับใคร ส่วนตัวผมคิดว่า สุดท้ายโรงเรียนคงกลับมาเปิดสอน แต่ควรเป็นไปในลักษณะ hybrid หรือลูกผสม
ผมเห็นว่าเด็กไม่ควรกลับไปเรียนแบบเดิม คือไปโรงเรียนทุกวัน โรงเรียนควรพิจารณาตามความเหมาะสมและศักยภาพที่จะทำการสอนทางไกลหรือออนไลน์ของโรงเรียน รวมไปถึงการสอนให้เด็กเรียนรู้ที่จะเรียนได้ด้วยตัวเอง (learn how to learn) โดยควรให้เด็กไปโรงเรียนเพียงบางวัน น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ๑ - ๓ วันต่อสัปดาห์ เพื่อลดความแออัดภายในโรงเรียน และลดความแออัดของระบบขนส่งสาธารณะ อะไรเรียนที่บ้านได้ก็เรียนที่บ้าน อะไรต้องเรียนที่โรงเรียนก็ไปเรียนที่โรงเรียน จะว่าไป โรงเรียนทุกโรงเรียนจะต้องปรับตัวกันเยอะจริงๆ นอกจากจะต้องจัดระบบการเรียนการสอนทางไกลหรือการเรียนการสอนออนไลน์หรือการเรียนรู้ด้วยตัวเองแล้ว ยังต้องจัดระบบป้องกันควบคุมโรคในโรงเรียน แถมยังจะต้องจัดให้เด็กนั่งห่างกันอย่างน้อย ๑ เมตร อาจจำเป็นต้องลดจำนวนนักเรียนต่อห้องลง ควรให้เด็กใส่หน้ากากผ้าตลอดเวลาที่อยู่โรงเรียน (จะมีปัญหากับเด็กเล็ก หรือเด็กอนุบาล) จะต้องปรับกระบวนการเรียนการสอนและกิจกรรมใหม่เพื่อลดโอกาสที่จะให้เด็กเล่นหรืออยู่ใกล้ชิดกัน การจัดการกับเด็กเล็กมากๆ และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนผู้ใหญ่ก็ยังจำเป็นต้อง work from home กันอย่างเต็มที่ต่อไปครับ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่แต่ละบริษัทจะทำได้ ส่วนของภาครัฐ คงจะพยายามรักษาระดับ work from home เดิมที่ 50-70% ต่อไปให้ได้
เรื่องนี้คงไม่จบเร็ว ดังนั้นทุกฝ่ายต้องปรับตัวครับ ทุกคนต้องช่วยกันเข้าใจสถานการณ์ ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เราอาจไม่สามารถทำงานได้เต็มที่เหมือนเดิม ก็เพราะเราอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติที่จะต้องช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ครับ เป็น business continuity mode ไม่ใช่ full opeations mode ช่วยๆ กัน เพราะเราทีมเดียวกันครับ #พวกเราทีมไทย ขอบคุณโรงเรียนหลายๆ โรงเรียนที่เชิญชวนให้ไปดูกิจกรรมของโรงเรียน ทำให้ได้ข้อคิดมาตอบคำถามยากๆ นี้ไปได้บ้าง