นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang ระบุว่า การอาศัยภูมิปัญญาของสังคมในการสู้วิกฤต กับ 3 ปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้ไขโดยด่วน
ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อเป็นปีๆ คาดกันว่าจะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เชื่อมโยงกับโลกนี้อย่างมากจึงได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาที่ใหญ่หลวงเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศ ทั้งจะต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจรุนแรงขึ้นเป็นระลอกๆ ได้ ต้องการระบบมาตรการทางสาธารณสุขและทางสังคมที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ และต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน จำเป็นต้องอาศัยข้อมูล ความรู้ ภูมิปัญญาของสังคมทั้งสังคมและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงจะสามารถฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคต่างๆ ก้าวพ้นวิกฤตนี้ไปได้
หากพิจารณาจากสภาพปัญหาที่เป็นอยู่และแนวโน้มของสถานการณ์ข้างหน้าจะพบว่าเรากำลังอยู่ในสภาพตามไม่ทันสถานการณ์และอาจไม่สามารถรับมือกับวิกฤตข้างหน้าได้ดีพอ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายและประชาชนจะต้องทุกข์ยากเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส
ยกตัวอย่างเช่นการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทยังล่าช้าและไม่ครอบคลุมผู้ที่เดือดร้อน ยังไม่มีการเตรียมการว่าจะใช้มาตรการอย่างไรหลังวันที่ 30 เมษายนนี้ การทำงานและการใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างไร มาตรการทางการเงินและการคลังยังมีปัญหาถกเถียงกันอยู่ว่า ควรใช้เงินและงบประมาณเหล่านี้อย่างไรจึงจะไม่เกิดความเสียหายต่อระบบและสอดคล้องกับปัญหา และแม้จะใช้เงินและงบประมาณมากแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับขนาดของปัญหาที่จะเกิดขึ้น มาตรการที่ออกมานั้นยังไม่ครอบคลุมปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าเช่นการส่งออกจะติดลบอย่างมากและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศซึ่งเป็นที่มาสำคัญของรายได้ของประเทศมาหลายปีกำลังจะเป็นศูนย์ ซึ่งหมายถึงประชาชนส่วนใหญ่จะตกงานไม่มีรายได้และยากจนเดือดร้อนอย่างหนัก
นอกจากนั้นเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้กันก็คือปัญหาทางสังคม การศึกษาทั้งระบบจะต้องมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ซึ่งยังไม่มีการเตรียมการใดๆ เด็กเล็ก ผู้ด้อยโอกาส จะดูแลกันอย่างไร สังคมจะอยู่กันอย่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันหรือจะเกิดความขัดแย้งกันเอง เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของเป็นปัญหาที่สังคมไทยต้องเผชิญ
ในสัปดาห์ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้ส่งสัญญาณที่ดีต่อการจะอาศัยภูมิปัญญาและการมีส่วนร่วมของสังคมอยู่บ้างจากการที่แถลงว่าพร้อมจะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายและมีการแต่งตั้งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจจากทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการที่รัฐบาลทำงานอย่างขาดการวางแผน ไม่มีการบูรณาการและตีกรอบตัวเองจนขาดข้อมูลความรู้และภูมิปัญญาจากสังคมและการขาดการตรวจสอบถ่วงดุลจากทุกภาคส่วน
สภาพการทำงานที่รัฐบาลทำงานแบบตีกรอบตัวเองจนกลายเป็นความจำกัดทางภูมิปัญญานี้มีปัญหาและทางออกอยู่ใน 3 ด้านคือ
1.หยุดปิดกั้นขัดขวางการสะท้อนปัญหาและการแสดงความคิดเห็น ยังมีการปิดกั้นขัดขวางการสะท้อนปัญหาและการเสนอความเห็นที่แตกต่างและการวิพากษ์วิจารณ์ ถึงขั้นที่มีการข่มขู่ การคุกคามด้วยการดำเนินคดีที่เกินกว่าเหตุและไม่ชอบด้วยกฎหมาย การสร้างกระแสให้เกิดความเข้าใจผิดว่าการแสดงความเห็นแตกต่างเป็นการขัดขวางการทำงานของรัฐบาล ทั้งๆ ที่ผ่านมา การเสนอความเห็นจำนวนมากเป็นความเห็นที่ดีและเป็นประโยชน์ซึ่งรัฐบาลก็มักต้องยอมรับไปใช้ในเวลาต่อมา
นายกฯ ควรจะทบทวนเรื่องนี้เสียใหม่ และส่งสัญญาณให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจและแก้ปัญหานี้โดยเร็ว
2.จัดระบบการทำงานและจัดระดมความคิดระดมสมองผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จากทุกภาคส่วนเป็นประจำ
การทำงานของรัฐบาลยังแยกกันทำอย่างกระจัดกระจาย ต่างคนต่างทำ ไม่มีการบูรณาการ การแก้ปัญหาที่ตัดสินใจโดยแต่ละจังหวัดต่างๆ กันไป จังหวัดมีอำนาจสั่งห้ามแต่ไม่มีอำนาจสั่งให้ความช่วยเหลือเยียวยา รัฐมนตรีและกระทรวงต่างๆไม่ได้ทำหน้าที่ที่พึงทำทั้งในการรับมือกับการแพร่ระบาดและการแก้ปัญหาของประเทศในภาพรวม รัฐบาลโดยรวมไม่มีช่องทางรับฟังความเห็นจากสังคมอย่างเป็นระบบ
รัฐบาลพึงตระหนักว่าการทำงานโดยตีกรอบตนเองอยู่ในวงแคบๆอย่างที่เป็นอยู่ไม่สามารถรับมือกับวิกฤตได้แน่ เพื่อจะแก้ปัญหานี้นอกจากรัฐบาลควรจะวางระบบการทำงานเสียใหม่ให้เกิดการบูรการและใช้บุคลากรและกลไกต่างๆ ให้เต็มศักยภาพแล้ว
รัฐบาลควรจัดการให้มีการระดมความคิดเห็นจากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาประเทศในด้านต่างๆ จากทุกภาคส่วนและครอบคลุมทุกมิติสำคัญของสังคม โดยเชิญบุคคลดังกล่าวมาประชุมหารือเป็นระยะๆ
3.ส่งเสริมให้รัฐสภาไทยกลับมามีบทบาทที่พึงมีตามระบอบประชาธิปไตย
สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปอย่างประหลาดคือการทำงานของรัฐสภา ในยามวิกฤตเช่นนี้รัฐสภาในประเทศต่างๆทำหน้าที่ในการสนับสนุนการทำงานของฝ่ายบริหารพร้อมกับตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อการทำงานมีประสิทธิภาพ ถุกทิศถูกทางและไม่เกิดการทุจริตคดโกง
แต่รัฐสภาของไทยกลับไม่มีบทบาทใดๆ ทั้งๆที่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรก็ได้แสดงให้เห็นการทำงานที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนได้เป็นอย่างดี ขณะนี้รัฐบาลจะใช้งบประมาณและเงินมหาศาล แต่กลับไม่มีการตรวจสอบ การดำเนินมาตรการต่างๆล้วนกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสิ้น แต่ก็กลับไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากสภาฯหรือคณะกรรมาธิการต่างๆ
การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ไม่มีเหตุจลาจลไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของสภาฯ ส่วนความเสี่ยงต่อการติดเชื้อก็หาทางแก้ได้ด้วยการประชุมออนไลน์หรือจัดที่ประชุมให้เหมาะสม
การจะแก้ปัญหาการขาดหายไปของรัฐสภาไทยนี้จะต้องแก้โดยตัวรัฐสภาเองก็จริง แต่ถ้ารัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลไม่สนับสนุนหรือกระทั่งขัดขวางไว้ การแก้ปัญหาก็คงไม่เกิดขึ้น รัฐบาลจึงควรส่งเสริมบทบาทของรัฐสภาให้สมกับการที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญและมีรัฐสภาแล้ว
ผมขอย้ำว่าวิกฤตครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก นายกรัฐมนตรีและคณะที่ไม่เป็นเอกภาพอยู่ในขณะนี้จะไม่สามารถรับมือกับวิกฤตนี้ได้ หากยังแยกตัวเองออกจากสังคม ทำตัวเองอยู่เหนือสังคม ปฏิเสธการตรวจสอบถ่วงดุลและการมีส่วนร่วมของสังคม รัฐบาลควรมีความตระหนักและเชื่อมั่นว่าสังคมไทยมีภูมิปัญญาที่อุดมสมบูรณ์ที่ควรถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เป็นความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาทั้งสามข้อนี้โดยเร็วที่สุด