นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. โพสต์ทวิตเตอร์ชี้แจงกรณี น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช.ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงมาตรการเพิ่มอินเทอร์เน็ตมือถือมือถือ และอินเทอร์เน็ตบ้านว่า ใครได้ ใครเสีย ไม่มีอะไรฟรีในโลก โดยระบุว่า ในฐานะคนทำงาน ได้เห็นข่าวสยามรัฐออนไลน์แล้ว @supinya ผมรู้สึกเสียกำลังใจในการต่อสู้และดำเนินงานโครงการแจกเน็ตมือถือ 10 GB และอัพสปีดเน็ตบ้านเป็น 100 Mbps เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมากเลย
ผมขอเรียนให้ทุกคนทราบดังนี้ โครงการนี้สืบเนื่องมาจาก กสทช. ต้องการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลเพื่อลดความจำเป็นของประชาชนในการออกนอกบ้าน เพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19
ถึงกระนั้น ประชาชนทุกคนยังมีความจำเป็นในการทำงานหารายได้ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว การจำต้องอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อนั้น ย่อมทำให้มีการติดต่อสื่อสารผ่านระบบโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น รัฐบาลจึงต้องมีบริการโทรคมนาคมที่เพียงพอเพื่อรองรับ นับแต่ที่รัฐบาลมีนโยบาย ‘อยู่บ้าน ลดเชื้อ เพื่อชาติ’ ปรากฏว่ามีประชาชนได้รับความเดือดร้อนและร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากว่า รัฐบาลยังไม่มีมาตรการรองรับที่เพียงพอสำหรับการทำงานจากที่บ้าน หลายคนต้องทำงานโดยไม่มีคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก หรือแทปเล็ต ส่วนใหญ่จึงต้องใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือเพื่อทำงานสร้างรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม SME ขนาดเล็กที่มีหลายล้านคน
หากจะถามว่าใครได้รับผลประโยชน์จากมาตรการเพิ่มเน็ตมือถือให้ประชาชน ผมขอเรียนยืนยันว่า เป็นประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุด สำหรับรัฐบาลและ กสทช. มีหน้าที่ดำเนินการโครงการอย่างโปร่งใส ส่วนข้อสงสัยที่ว่าผู้ประกอบการโทรคมนาคมได้ประโยชน์หรือไม่ ผมเสนอให้ไปถามผู้ประกอบการโทรคมนาคมเองจะดีกว่า ถ้าได้คำตอบแล้วให้แจ้งมายังรัฐบาลและ กสทช. ด้วย
รายละเอียดของการดำเนินโครงการฯ มีดังนี้
1.โครงการนี้เป็นการเพิ่มเน็ตมือถือให้กับประชาชน 1 คน ต่อ 1 สิทธิ์ โดยเพิ่มให้กับประชาชนที่ใช้ซิมเดิมที่เปิดใช้กันอยู่แล้ว จำนวน 10 GB ใช้งานได้ 30 วัน ยอดผู้ได้รับสิทธิ์ ณ เวลาที่ผมทวิตอยู่นี้ มีจำนวน 7 ล้านเลขหมาย ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการที่ใช้งานบนซิมมือถือเดิม ไม่มีการเปิดเบอร์ใหม่
สำหรับราคาแพ็คเกจที่ค่ายมือถือขายอยู่ในปัจจุบัน อาจมีบางคนไม่ทราบ ผมจึงขอให้ข้อมูล ดังนี้ เน็ต 5 GB ใช้งานได้ 7 วัน ขายอยู่ที่ 299 บาท ถ้า 8 GB ใช้งานได้ 30 วัน ขายอยู่ 599 บาท
วันนี้ รัฐบาลและ กสทช. เพิ่มเน็ตมือถือให้ประชาชน 10 GB ใช้งานได้ 30 วัน โดยจ่ายเงินให้ค่ายมือถือเพียง 100 บาท แสดงว่า ภายในระยะ 1 เดือนนับแต่ที่กดรับสิทธิ์ไป ประชาชนไม่ต้องเสียเงินตนเองเติมเงินซื้อแพ็คแกจกับค่ายมือถือเลย กลับมีเน็ต 10 GB ใช้ โดยรัฐจ่ายเงินแทนในราคาที่ต่ำกว่าที่ประชาชนต้องจ่ายให้กับค่ายมือถือเอง อธิบายแบบนี้แล้ว ผมหวังว่าจะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าใครกันแน่ที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ การตั้งคำถามชี้นำที่มีธงในใจว่าใครได้ใครเสียแบบนี้ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และบั่นทอนกำลังใจของผู้ทำงานเป็นอย่างยิ่ง
2.ข้อสงสัยที่ว่ามาตราการนี้เกือบกับเป็นการแจกเงินฟรีให้กับค่ายมือถือหรือเอื้อนายทุนใหญ่นั้น ผมขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ในทางตรงกันข้าม นโยบายนี้ทำให้ค่ายมือถือมีรายได้ลดลงกว่า 4-5 เท่า เพราะหากประชาชนจ่ายเงินซื้อแพ็คเกจ 10 GB เอง จะต้องเสียเงินเฉลี่ย 599 บาท แต่มาตรการนี้กลับบังคับให้ค่ายมือถือต้องรับเงินเพียง 100 บาท จาก กสทช. เท่านั้น ส่วนต่าง 499 บาท ที่หายไปจึงตกเป็นภาระของค่ายมือถือเอง
3.เดิมรัฐบาล และ กสทช. ยืนยันให้ค่ายมือถือดำเนินมาตรการนี้อย่างน้อย 3 เดือน แต่ค่ายมือถือปฏิเสธ เพราะไม่อาจรับภาระได้มากกว่า 1 เดือน จึงขอให้ความร่วมมือในการสนับสนุนโครงการ Work from Home ของรัฐบาล ร่วมมือกับ กสทช. เพียง 1 เดือนเท่านั้น เดือนที่ 2 - 3 ขอไม่สนับสนุน การปฏิเสธของค่ายมือถือข้างต้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ค่ายมือถือเสียประโยชน์จากมาตรการนี้เต็มๆ
4.ประชาชนทราบหรือไม่ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือรวม 127 ล้านเบอร์ แบ่งเป็นแบบรายเดือนประมาณ 3 ล้านกว่าเบอร์ คิดเป็น 2.4 % เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 97.6 % เป็นแบบเติมเงินทั้งสิ้น
มาตรการเพิ่มเน็ตมือถือ 10 GB นี้ มุ่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง ตามเม็ดเงินที่ กสทช. มีอยู่ จึงเน้นที่เบอร์มือถือแบบเติมเงิน ซึ่งเป็นกลุ่มส่วนใหญ่ที่ได้รับความเดือดร้อน
ต่อคำถามที่ว่า เหตุใดจึงไม่เลือกวิธีการเลื่อนการชำระเงินค่ามือถือออกไป 2 – 3 เดือน เหมือนค่าไฟฟ้าและค่าประปา ขอตอบว่าเป็นการเปรียบเทียบที่ผิดบริบท เนื่องจากการชำระเงินค่าไฟฟ้าและประปานั้น ไม่มีระบบเติมเงินเหมือนของมือถือ มีเฉพาะระบบใช้แล้วจ่ายเป็นรายเดือนเท่านั้น หากนำแนวทางการเลื่อนชำระหนี้มาใช้ จะมีประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการมือถือแบบรายเดือนที่ได้รับประโยชน์เพียง 2.4% เท่านั้น ส่วนกลุ่มเติมเงินอีกกว่า 97.6% จะไม่ได้รับประโยชน์จากการเลื่อนชำระหนี้เลย
5.ในการพิจารณาดำเนินการ รัฐบาลและกสทช. มีความห่วงใยมาโดยตลอดว่า มาตรการนี้จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับค่ายมือถือหรือไม่ จึงออกแบบมาตรการนี้โดยพิจารณาอย่างรอบคอบจากทุกมิติ เพื่อสร้างความมั่นใจว่ามาตรการจะดำเนินการด้วยความโปร่งใสโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ดังนั้น เมื่อได้อ่านข้อวิจารณ์ดังกล่าว สำนักงาน กสทช. จึงสามารถชี้แจงที่มาและเหตุผลของมาตรการนี้ได้ทันที
ท้ายที่สุด สำนักงาน กสทช. เชื่อว่าการรับมือกับวิกฤต covid-19 จำเป็นต้องดำเนินการแบบเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหา ผมขอขอบคุณและน้อมรับคำวิจารณ์ต่างๆ ที่เป็นไปในทางเชิงสร้างสรรค์ เพื่อปรับปรุงโครงการเพิ่มเน็ตมือถือให้ประชาชน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป