xs
xsm
sm
md
lg

'ไอติม'แนะ 10 ข้อเสนอแก้ รธน. ชี้ม็อบ นศ.ไปไกลกว่าสู้เพื่ออนาคตใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก "พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu" ระบุว่า 10 ข้อเสนอของการแก้รัฐธรรมนูญ = 5 ยกเลิก + 5 ยกระดับ

จากการได้ติดตามการแสดงพลังของนักศึกษาทั่วประเทศ ผมสัมผัสได้ว่าการต่อสู้ของพวกเขาทุกวันนี้ ไปไกลกว่าการต่อสู้เพื่ออนาคตใหม่ แต่เป็นการต่อสู้เพื่อ อนาคตประเทศไทยที่พวกเขาอยากเห็น
อนาคตที่กองทัพไม่ยุ่งเกี่ยวกับจากการเมือง อนาคตที่ปราศจากการสืบทอดอำนาจที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน อนาคตที่ผู้นำมีวิสัยทัศน์ที่เท่าทันโลกยุคใหม่ และ อนาคตที่ผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมืองด้วยความโปร่งใส

แต่คำถามที่ตอนนี้สำคัญกว่า คำถามที่ว่า พวกเขาออกมาเพราะเหตุใดคือ คำถามที่ว่า “การออกมาของพวกเขา จะนำไปสู่ข้อเสนอหรือทางออกอะไรให้บ้านเมือง” ที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน และสร้างโครงสร้างประเทศที่เขาอยากเห็น

บางคนมองว่าการที่คุณประยุทธ์ ลาออก ยุบสภา และ จัดการเลือกตั้งใหม่ จะเป็นทางออกที่เพียงพอ ผมขออนุญาตเห็นต่าง
เพราะถึงแม้คุณประยุทธ์ ลาออก ประเทศก็ยังมีนายทหารอีกหลายคนที่พร้อมจะเสียบแทน เพราะถึงแม้คุณประยุทธ์จะประกาศให้มีการเลือกตั้ง ประเทศก็ยังมีระบบและกรรมการการเลือกตั้งชุดเดิม เพราะถึงแม้คุณประยุทธ์จะแพ้เลือกตั้ง ประเทศก็ยังมี ส.ว. 250 คน ที่พร้อมจะเลือกเขากลับเข้ามาเป็นนายกฯ

ทางออกของประเทศ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกำจัดบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับการแก้ที่ต้นตอและที่มาของระบอบวิปริตทั้งหมด ที่ทำให้เรามีกรรมการที่ไม่เป็นกลาง มีกติกาที่ไม่เป็นธรรม และห่างไกลจากคำว่า ประชาธิปไตย

สำหรับผม ทางออกเดียวของประเทศ คือการแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันศุกร์ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ผมได้แชร์ 10 ข้อเสนอ ว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ควรถูกร่างขึ้นใหม่ ควรมีเนื้อหาอะไรที่จะพาบ้านเมืองก้าวไปข้างหน้าบนสายประชาธิปไตย

ข้อเสนอเหล่านี้ ไม่ได้มาจากแค่ความคิดและการวิจัยของผมและกลุ่ม แต่มาจากร่างรัญธรรมนูญกว่า 20 ฉบับ ที่ประชาชนกว่า 100 คนจากทั่วประเทศ มาร่วมกันร่างในงานระดมความเห็น Con Lab ที่ผมและกลุ่ม รัฐธรรมนูญก้าวหน้า ได้เดินสายจัด
ผมจะขอเรียก 10 ข้อเสนอ นี้ว่า ข้อเสนอ “5 ยกเลิก + 5 ยกระดับ”

5 ยกเลิก

1. ยกเลิกรัฐธรรมนูญแบบมัดมือชก
ลดความยาวของรัฐธรรมนูญไทย จาก 40,000 คำ ด้วยการตัดหมวดหมู่ 6 นโยบายของรัฐ และ 16 การปฏิรูปประเทศ ที่ก้าวก่ายและผูกมัดการทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากจนเกินไป ผ่านกลไกของยุทธศาสตร์ 20 ปี

2. ยกเลิกรัฐธรรมนูญแบบแก้ไม่ได้
กำจัดเงื่อนไข ที่ 1 ใน 3 ของ ส.ว. ต้องอนุมัติการทุกข้อเสนอด้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้รัฐธรรมนูญสามารถถูกแก้ไขได้ในอนาคต หากได้รับฉันทามติจากประชาชนในหมู่มาก (เช่น ผ่านการทำประชามติ)

3. ยกเลิกการอ้างความมั่นคง
แก้ไขมาตรา 25 เพื่อให้รัฐไม่สามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน ด้วยเหตุผลเรื่อง “ความมั่นคงของรัฐ” และ “ความสงบเรียบร้อย” ได้อีกต่อไป เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายเดียวผูกขาดอำนาจในการนิยามและตีความ รัฐควรจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนหนึ่งได้ ต่อเมื่อประชาชนคนนั้นละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น

4. ยกเลิกกติกาเลือกตั้งที่มีแต่ความงง
เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งกลับสู่ระบบบัตรสองใบ ที่มีการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อและเขตแยกออกจากกัน เพื่อให้เราได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกผู้สมัครเขตและผู้สมัครบัญชีรายชื่อจากคนละพรรค และเพื่อให้ ส.ส. เขตทุกคนมีคะแนนเสียงของตัวเอง ที่สะท้อนฉันทานุมัติและความรับผิดชอบที่มีโดยตรงกับประชาชนอย่างชัดเจน

5. ยกเลิกวุฒิสภาที่มีอำนาจล้นมือ
เปลี่ยนระบบรัฐสภาจากระบบสภาคู่ มาเป็นระบบสภาเดี่ยว ที่ไม่มีวุฒิสภา เพื่อความคล่องตัวในการออกกฎหมายให้เท่าทันกับสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อประหยัดงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี และเพื่อกำจัดพฤติกรรมของ ส.ว. ในการให้ท้ายฝ่ายบริหารเนื่องมาจากระบบการแต่งตั้งที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน

5 ยกระดับ

1. ยกระดับสิทธิเสรีภาพประชาชน
ทำให้สิทธิเสรีภาพหลายอย่างที่เขียนอยู่บนรัฐธรรมนูญ ถูกบังคับใช้จริงในเชิงปฏิบัติ (เช่น เสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพทางวิชาการ หรือ สิทธิที่จะถูกสันนิษฐานว่าไม่มีความผิดก่อนคำพิพากษา) และขยายสิทธิเสรีภาพให้ครอบคลุมถึงปัญหาและประเด็นใหม่ ๆ ในสังคม เช่น สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิความเท่าเทียมของทุกเพศ และ สิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล

2. ยกระดับคุณสมบัตินายกฯ กำหนดว่า นายกรัฐมนตรี ต้องเป็น ส.ส. เพื่อความชัดเจนของระบบรัฐสภาที่กำหนดให้นายกฯต้องเข้าประชุม ตอบคำถาม และมีความรับผิดชอบในฐานะสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ (ถ้าเราจะไม่กำหนดให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เราควรแยกอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติให้ชัด และจัดให้มีการเลือกตั้งแยกสำหรับนายกฯ และสำหรับ ส.ส.)

3. ยกระดับองค์กรอิสระ กำหนดให้การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เป็นหน้าที่ของ ส.ส. แต่มีข้อแม้ว่าทุกตำแหน่งจะต้องได้รับจากอนุมัติจากทั้งเสียงข้างมากของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ เสียงข้างมากของ ส.ส. ฝ่ายค้าน เพื่อให้ทุกตำแหน่งมีความยึดโยงกับประชาชน แต่ยังคงไว้ถึงความเป็นกลางทางการเมือง

4. ยกระดับความเป็นประชาธิปไตยโดยตรง คืนสิทธิเดิมที่ประชาชนเคยได้รับ ในการเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และปรับให้กระบวนการล่ารายชื่อมีความเรียบง่ายและทำออนไลน์ได้

5. ยกระดับท้องถิ่น ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค กระจายอำนาจส่วนมากสู่ท้องถิ่น และจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัด เพื่อให้ทุกจังหวัดมีสิทธิกำหนดอนาคตตนเอง

ผมขอย้ำว่า ผมไม่ต้องการให้ข้อเสนอเหล่านี้ เป็นคำตอบสุดท้ายที่กำหนดแบบตายตัว ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมีเนื้อหาอะไร แต่ผมอยากให้ข้อเสนอเหล่านี้เป็น คำตอบชุดแรกที่เริ่มต้นบทสนทนา และจุดประกายให้ประชาชนได้เข้ามาแสดงความเห็น (ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย) และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อเสนอให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน อย่างแท้จริง เพราะเหนือข้อเสนอของผม คือการมีส่วนร่วมของประชาชน

ผมเลยขอเชิญชวนทุกท่าน ไม่ว่าท่านจะเคยใส่เสื้อสีไหน ไม่ว่าท่านจะเคยเลือกใครในการเลือกตั้ง ไม่ว่าท่านจะเคยชอบใครเกลียดใคร ผมขอให้ทุกท่านวางสิ่งเหล่านั้นไว้ในอดีต เพื่อมาร่วมกันออกแบบกติกาใหม่ ที่จะนำพาสังคมเราหลุดพ้นจากวิกฤตปัจจุบัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นจุดเริ่มต้น แต่ไม่ใช่จุดจบ ของการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง

ถึงเวลาเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อ กรรมการที่เป็นกลาง กติกาที่เป็นธรรม และ ประเทศชาติที่ก้าวหน้าและเป็นประชาธิปไตย