นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก “ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์”ระบุว่า ข้อกฎหมายเบื้องต้นกรณีการส่งร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
1.ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ลำดับชั้นกฎหมายคือร่างกฎหมายที่อยู่ในลำดับชั้น พระราชบัญญัติ แต่เป็นร่างกฏหมายที่มีความสำคัญมากเพราะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน คือ เรื่องงบประมาณรายจ่ายของประเทศทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นงบประจำหรืองบลงทุนต่างๆ ทั้งหมด
2. ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ขณะนี้ถือว่าได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาตามหลักรัฐธรรมนูญในเรื่องกรอบระยะเวลาเรียบร้อยแล้ว คือ-สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอยู่ในกรอบเวลา 105 วัน-วุฒิสภาพิจารณาอยู่ในกรอบเวลา 20 วันมีความสมบูรณ์ตามมาตรา 143 ในเรื่องกรอบระยะเวลา
3.เมื่อเป็นร่างพระราชบัญญัติและผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้วก่อนส่งร่างพระราชบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้า ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องชะลอไว้ 3 วันเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาแล้วแต่กรณีว่าจะเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.หรือรวมกันไม่น้อยกว่า 1ใน 10 เห็นว่า
-ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือ-ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญก็ให้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีการพิจารณาวินิจฉัย
4.ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เมื่อมี ส.ส.กดบัตรแทนกันก็จะผิดไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่สมาชิกหนึ่งคนย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน
ประเด็นข้อพิพาทในเรื่องนี้คือกระบวนการตราพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ส.ส.ก็เข้าชื่อกันยื่นคำร้องตามมาตรา 148 ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
ประธานสภาก็ต้องส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทำการวินิจฉัยว่าการกดบัตรแทนกันนำไปสู่กระบวนการตราที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนายกรัฐมนตรีก็จะนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 นำขึ้นทูลเกล้าไม่ได้ ที่มีหลายคนบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 15 วัน เป็นการยกข้อกฎหมายที่ผิดไปจากรัฐธรรมนูญ
เพราะข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นไปตามหลักมาตรา 148 ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไว้ แต่เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาให้โดยเร็วเพราะเป็นเรื่องสำคัญ
ที่หลายคนอ้างเรื่องกำหนดกรอบระยะเวลา 15 วันให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ความจริงคือมาตรา 144 ที่อยู่ในช่วงระหว่างพิจารณางบประมาณหากมี ส.ส.หรือ ส.ว.กระทำการเสนอ การแปรญัตติ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณจะกระทำมิได้ส.ส.หรือ ส.ว.เขาชื่อกันเป็นจำนวน 1ใน 10 ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงไม่ต้องผ่านประธานสภา กรณีนี้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน
เมื่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี พ.ศ. 2563 ขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายก็ต้องรอผลการวินิจฉัยของศาล ว่าจะตกไปทั้งฉบับ หรือเฉพาะมาตราใดมาตราหนึ่ง แล้วกำหนดวิธีการอย่างไรเป็นดุลพินิจของศาล เพราะนั้นคือกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลโดยอำนาจตุลาการที่ทุกฝ่ายต้องน้อมรับ