xs
xsm
sm
md
lg

“โภคิน” ชี้ พ.ร.บ.งบ 63 ต้องตกทั้งฉบับเหตุกระบวนการตราไม่ชอบ-ขัด รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โภคิน” ชี้ พ.ร.บ.งบ 63 ต้องตกทั้งฉบับเหตุกระบวนการตราไม่ชอบ ขัดรัฐธรรมนูญ ม.178 ไม่สามารถนำ ม.143 มาใช้ได้ ระบุไม่สามารถออก พ.ร.ก.บังคับใช้ได้ เพราะการจัดงบประมาณจะต้องเป็น พ.ร.บ.เท่านั้น

วันนี้ (24 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายโภคิน พลกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่มีการส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ว่า เมื่อประธานสภาฯ ได้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร แต่สำหรับส่วนตัวแล้วมีความเห็นว่าหากเป็นกรณีที่กระบวนการตราไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ร่างพระราชบัญญัติฯ จะต้องตกไปทั้งฉบับ เพราะถือว่าเป็นการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 178

นายโภคินกล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีแนวคำวินิจฉัยเมื่อปี 2557 มาแล้วว่า เมื่อกระบวนการตรากฎหมายไม่ชอบย่อมจะต้องตกไปทั้งฉบับ ไม่ได้ตกไปเฉพาะบางมาตรา การให้บุคคลลงคะแนนแทนตนเองไม่ว่าจะอ้างด้วยเหตุผลใดย่อมฟังไม่ขึ้น แม้ผู้นั้นจะอยู่ในห้องประชุมขณะที่มีการลงคะแนนก็ตาม

อดีตประธานรัฐสภากล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่างพระราชบัญญัติฯตกไปทั้งฉบับจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการหาทางออกสำหรับกรณีนี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่าไม่สามารถนำมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญมาปรับใช้ได้ เนื่องจากมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่กำหนดให้สภาฯพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณให้เสร็จภายใน 105 วัน หากไม่ทันตามกรอบเวลาจะให้ถือว่าสภาฯ ได้ให้ความเห็นชอบและตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอและส่งให้วุฒิสภาต่อไป แต่สำหรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกรณีที่เรื่องกระบวนการตราที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจะมาอ้างไมได้ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่างกฎหมายงบประมาณที่สภาฯ แก้ไขตกไปทั้งฉบับจะนำร่างกฎหมายงบประมาณฉบับของคณะรัฐมนตรีมาบังคับใช้ เพราะเป็นคนละกรณีกัน

เมื่อถามว่า รัฐบาลสามารถตราพระราชกำหนดเพื่อบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ได้หรือไม่ นายโภคินกล่าวว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติเป็นการเฉพาะว่าการจ่ายเงินแผ่นดินและการจัดทำงบประมาณจะต้องกระทำเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น อีกทั้งรัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติเป็นการเฉพาะด้วยว่ากรณีใดบ้างที่คณะรัฐมนตรีสามารถตราพระราชกำหนดได้บ้าง จึงเห็นว่าการตราพระราชกำหนดในกรณีนี้ย่อมไม่สามารถกระทำได้ เพราะหากทำเช่นนั้นจะเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ



กำลังโหลดความคิดเห็น