xs
xsm
sm
md
lg

คุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา"เบญจา"และพวก ช่วย"โอ๊ค-เอม"เลี่ยงภาษีหุ้นชินฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (26 ธ.ค.) เวลา 10.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 703 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลนัดอ่านฎีกา คดีหมายเลขดำ อท. 43/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-5 ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ตามฟ้องเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า จำเลยที่ 1-4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของกรมสรรพากร ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อไม่ให้นายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรชายคนโต และบุตรสาวคนที่ 2 ของนายทักษิณ ต้องเสียภาษีอากรหรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย และได้รับประโยชน์ที่มิควร โดยชอบด้วยกฎหมาย จากการที่นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชัน จำกัด เมื่อปี 2549 คนละ 164,600,000 หุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาดหุ้นละ 46.25 บาท ถือได้ว่านายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา เป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีของส่วนต่างราคาหุ้น คนละ 7,941,950,000 บาท ซึ่งการกระทำนั้นทำให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และราชการเสียหาย จำเลยทั้งหมดสู้คดี ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 พิพากษาว่า นางเบญจา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร น.ส.จำรัส น.ส.โมรีรัตน์ และนายกริช อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย จำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี ส่วน น.ส.ปราณี คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 ให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยทั้งหมดแล้ว ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

ต่อมา จำเลยที่ 1-5 ยื่นอุทธรณ์คดี และได้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งศาลตีราคาประกันคนละ 300,000 บาท โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขใดๆ

ขณะที่คดีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ซึ่งเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษนั้นชอบแล้ว โดยสภาพความผิดของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำที่ไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายและความน่าเชื่อถือในการจัดเก็บภาษีอากรของประเทศชาติ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ส่วนที่จำเลยที่ 5 อ้างว่าเรื่องนี้ในที่สุดแล้วก็ไม่ได้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษายึดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องไปหมดแล้ว และศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนการปะเมินภาษีของกรมสรรพากรไปแล้วนั้น จะนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้ศาลรอการลงโทษไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยทั้งห้าที่ไม่รอการลงโทษนั้น ศาลอุทธรณ์ฯ เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน จำคุกจำเลยที่ 1-4 คนละ 3 ปี และจำคุกจำเลยที่ 5 เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ต่อมา จำเลยทั้งหมดยื่นฎีกาสู้คดี พร้อมขอให้พิจารณาลงโทษสถานเบาหรือรอลงอาญา โดยระหว่างฎีกา จำเลยทั้งหมดได้ประกันตัวคนละ 500,000 บาท โดยศาลฎีกากำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้งหมดเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และยังให้จำเลยทั้งหมดนำหนังสือเดินทางมามอบต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ โดยให้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ แจ้งไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ให้ทราบด้วย

วันนี้ทั้งหมดเดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา โดยมีครอบครัวและญาติสนิท มาร่วมให้กำลังใจกว่า 30 คน

ทั้งนี้ ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1-4 ในการตอบข้อหารือประเมินภาษี การซื้อขายหุ้นชินฯ ระหว่างแอมเพิลลิส กับนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ให้กับจำเลยที่ 5 รับทราบนั้น แอบแฝงเจตนาที่จะช่วยให้นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ไม่ต้องแจ้งรายได้ที่เป็นส่วนต่างการซื้อขายหุ้นที่ราคาต่ำกว่าทุน ซึ่งมีมูลค่า 15,883,900,000 บาท ซึ่งแนวการตอบข้อหารือนั้น ไม่ตรงกับข้อหารือที่กรมสรรพากร เคยวินิจฉัยเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นบางประการไว้ อีกทั้งยังฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 5 มีหนังสือแจ้งถามข้อหารือมายังกรมสรรพากร ก็เป็นการวางแผนที่เตรียมไว้ในการขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ปให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยวินิจฉัยว่า เจ้าของหุ้นที่แท้จริงคือ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจำเลยที่ 1-4 เป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรระดับสูง เคยวินิจฉัยข้อกฎหมายต่างๆ มา และถือเป็นมันสมองของกรมสรรพากร ขณะที่จำเลยที่ 5 ก็เคยทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีและตรวจสอบการประเมินภาษี จึงย่อมรู้ดีว่าการมีหนังสือถามข้อหารือดังกล่าว นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการยื่นแบบรายได้ประเมินภาษีได้ และหากมีคดีความเกิดขึ้น ทั้งอาญาหรือแพ่ง ก็สามารถนำหนังสือตอบข้อหารือนี้ไปใช้อ้างเพื่อเป็นประโยชน์ได้ ขณะที่ข้อสงสัยในการประเมินภาษีลักษณะดังกล่าวยังไม่เคยมีแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกา

ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษว่ากระทำความผิดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลส่วนที่จำเลยทั้ง 5 ขอให้ลงโทาสถานเบาหรือรอลงอาญานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 5 ตามที่วินิจฉัยมาถือว่ามีพฤติการณ์ร้ายแรง จึงไม่สมควร ให้รอการลงโทษ แต่เมื่อพิเคราะห์จากคำให้การของจำเลยที่ 1-4 แล้ว เห็นว่ายังมีประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 คงเหลือ ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 1-4 คนละ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 5 คงจำคุกไว้ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์