xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิราชประชาฯ จัดสร้างเครื่องบำบัดฝุ่น PM 2.5 ต้นแบบ หวังช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ ( 12 พ.ย.)เวลา 12.50 น. พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินทางไปตรวจการสาธิตการทดสอบเครื่องบำบัดฝุ่น PM 2.5 ต้นแบบ ณ โรงงานห้างหุ้นส่วนจำกัดแสตนเลสดี อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ดำเนินการจัดสร้างขึ้น โดยมี ดร. ธงชัย เมธนาวิน และพันเอก ประเสริฐ โชติช่วง เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการจัดสร้าง และมีกรมอู่ทหารเรือ กองทัพเรือ เป็นคณะทำงานร่วม โดยใช้งบประมาณในการจัดสร้าง ทดลองและประดิษฐ์ เครื่องบำบัดฝุ่น PM 2.5 ต้นแบบ จำนวน 280,000 บาท (สองแสนแปดหมื่นบาทถ้วน)

การทำงานของเครื่องบำบัดฝุ่น PM 2.5 ต้นแบบ เป็นระบบบำบัดอากาศ โดยใช้น้ำหรือสารละลาย เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับบำบัดก๊าซเสีย มลพิษ ไอกรด ไอสารเคมี หรือ อนุภาคของแข็งขนาดเล็ก โดยอาศัยหลักการทำงานแบบสัมผัสกัน ระหว่างอากาศเสียกับของเหลว ซึ่งก็คือน้ำ (หรือสารละลายเคมี) เริ่มจากอากาศเสียจะถูกดูดเข้าเครื่องบำบัดฝุ่น PM 2.5 โดยการสัมผัสกับน้ำ เพื่อดักจับฝุ่นละอองหรือสารปนเปื้อนที่มากับอากาศ (สารเคมี สารเป็นพิษอื่น ๆ) ทำให้อนุภาคถูกจับออกจากมวลอากาศ ส่วนอากาศที่ผ่านการบำบัดภายในอุปกรณ์ดังกล่าว ทำให้สะอาดขึ้น น้ำที่ดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กไว้ จะถูกรวบรวมตกลงไปในถังน้ำหมุนวน และละอองน้ำบางส่วน จะถูกส่งผ่านไปยังอุปกรณ์ดักจับไอน้ำ ดังนั้นอากาศทั้งหมดจะถูกส่งออกไปทางปล่องปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ คืนอากาศบริสุทธิ์สู่ภายนอก ซึ่งกรมควบคุมมลพิษจะเข้าร่วมการทดสอบด้วย เพื่อตรวจวัดค่าต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน

ทั้งนี้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบรรเทาทุกข์ที่จะเกิดขึ้นแก่ราษฎร โดยการจัดสร้างเครื่องบำบัดฝุ่น PM 2.5 ต้นแบบขึ้นเพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในระยะยาว ซึ่งเดิมมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้ดำเนินการแจกหน้ากากกันฝุ่น PM 2.5 ให้กับประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ 6 จังหวัด เพื่อใช้แก้ปัญหาในเบื้องต้น ซึ่งใช้งบประมาณสูงกว่าการจัดสร้างเครื่องบำบัดฝุ่น PM 2.5 ต้นแบบ อีกทั้งยังสามารถประหยัดงบประมาณ โดยไม่ต้องนำเข้าเครื่องดังกล่าวจากต่างประเทศ และเป็นการนำองค์ความรู้ของคนไทยมาต่อยอดในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นใช้เองภายในประเทศ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งหากการศึกษาทดลองประสบผลสำเร็จ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ จะดำเนินการจดสิทธิบัตร และเผยให้ประชาชนทั่วไป สามารถนำไปต่อยอดได้ในการสร้างเครื่องบำบัดฝุ่น PM 2.5 เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์มลพิษต่อไปได้