วันนี้ (3 พ.ย. 62) เวลา 10.00 น. รศ.นราพร จันทร์โอชา ภริยานายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะคู่สมรสฯ เข้าร่วมกิจกรรมเสวนาเชิงวิชาการเรื่อง "การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการบริหารจัดการขยะ" (Sharing Best Practices on Waste Management)
โดยคู่สมรสที่เข้าร่วมกิจกรรมเสวนา ได้แก่ นางอิเรียนา โจโก วิโดโด ภริยาสาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาดามนาลี สีสุลิด ภริยานายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตุน ดร. ซีตี ฮัสมะฮ์ โมฮัมหมัด อาลี ภริยานายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มาดามเชลีโต ซัลวาดอร์ อาวานเซนยา ภริยาประธานาธิบดีสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ นางลี เซียนลุง ภริยานายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์ และมาดาม เจิ่น เหงวียต ทู ภริยานายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ทั้งนี้ ก่อนเริ่มกิจกรรม คณะฯ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริษัท SCG จากัด (มหาชน) และบริษัท PTT Global Chemical จำกัด (มหาชน)
โอกาสนี้ ภริยานายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการเสวนา ย้ำว่าการบริโภคอย่างยั่งยืนและการบริหารจัดการขยะถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 บริษัทภาคเอกชนรายใหญ่ 43 แห่ง ทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อ จะหยุดจ่ายและจำหน่ายถุงพลาสติกในประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของไทย โดยภริยานายกรัฐมนตรีกล่าวขอให้ทุกคนบริโภคแต่น้อย อนุรักษ์ให้มาก และกล้าที่จะกระตุ้นให้ผู้อื่นเริ่มลงมือ
โดยไทยได้ประกาศให้การบริหารจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติ โดยนำหลักการ 3Rs คือ Reduce (ใช้น้อย) Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) มาใช้เป็นแนวทางในการจัดการ โดยไทยมุ่งพัฒนาภูมิภาคอาเซียนไปสู่ภูมิภาคแห่งการผลิตและบริโภคผลิตอย่างยั่งยืน มีการบริหารจัดการของเสียอย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์ และส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-economy, Circular Economy and Green Economy : BCG Model)
จากนั้น ผู้เข้าร่วมเสวนาในฐานะตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เด็กหญิงระริน สถิตธนาสาร กลุ่มบริษัท SCG และ PTTCG ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวคิด และการดำเนินการในการบริหารจัดการขยะในมิติต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กร และชุมชน
ในตอนท้าย คู่สมรสต่างแสดงความเห็นอย่างหลากหลายในประเด็นปัญหาเรื่องขยะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศและในประเทศทุกระดับ การแก้ปัญหาจึงต้องร่วมมือกัน และนำประสบการณ์ของแต่ละประเทศไปศึกษาเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป