นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเบา จ.เชียงใหม่ ว่า รฟม.ได้สรุปเลือกแนวก่อสร้างตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เสนอมา คือ โครงข่าย A งบประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาดท ใช้ทางวิ่งบนดินและใต้ดินร่วมกัน แม้จะใช้ระยะเวลาก่อสร้างและวงเงินลงทุนสูงกว่ารูปแบบ B คือติดตั้งรางแทรมบนถนน (LRT) เนื่องจากสภาพถนนใน จ.เชียงใหม่ แคบ หากนำรถไฟฟ้าแทรมไปวิ่งจะทำให้เสียช่องจราจร จะยิ่งทำให้การจราจรติดขัด
นอกจากนี้ ยังเป็นไปตามความต้องการของชาวบ้านที่ต้องการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมรอบคูเมืองและเอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่เอาไว้ดังเดิม อีกทั้งยังเวนคืนพื้นที่ไม่มาก เพื่อก่อสร้างทางขึ้น-ลงสถานีใต้ดินเท่านั้น โดยอยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาศึกษารูปแบบการเปิดให้เอกชนร่วมทุน (พีพีพี) ซึ่งร่างเอกสารเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ใกล้เสร็จ คาดว่าจะได้ที่ปรึกษาภายในปีนี้ และน่าจะเปิดประมูลได้ภายในปี 2563 โดยจะก่อสร้างสายสีแดงก่อน จากนั้นจึงสร้างสายสีเขียวและสายสีน้ำเงินตามลำดับ
สำหรับรูปแบบการจัดจราจรระหว่างก่อสร้าง ต้องร่วมมือกับท้องถิ่น จ.เชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และตำรวจจราจร เพื่อปรับเส้นทางเดินรถทางเดียว (OneWay) ตลอดจนปิดการจราจรบางจุด เนื่องจากต้องใช้พื้นที่เปิดหน้างานก่อสร้างทางขึ้น-ลงสถานี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าหนักใจ
สำหรับ 3 เส้นทางหลัก ระยะทางรวม 35 กิโลเมตร สายสีแดง 12 กิโลเมตร สีเขียว 12 กิโลเมตร และสีน้ำเงิน 11 กิโลเมตร ใช้เวลาสร้าง 6 ปี หรือเส้นละ 2-3 ปี โดยสายสีแดง (รพ.นครพิงค์-สนามบิน-แม่เหียะ) เริ่มต้นทางวิ่งบนดินจาก รพ.นครพิงค์ ศูนย์ราชการเชียงใหม่ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ศูนย์ประชุมฯนานาชาติ สภ.ช้างเผือก เริ่มใช้ทางวิ่งใต้ดินที่แยกข่วงสิงห์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถานีขนส่งช้างเผือก รพ.เชียงใหม่ราม (พบจุดตัดสายสีน้ำเงิน) โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ จากนั้นปรับมาใช้ทางวิ่งบนดิน ผ่านสถานีขนส่ง และสิ้นสุดที่ห้างบิ๊กซีหางดง
ส่วนสายสีเขียว (แยกรวมโชค-สนามบินเชียงใหม่) มีจุดลงใต้ดินช่วงกาดหลวง ช้างคลาน และมหิดล ขณะที่สายสีน้ำเงิน เป็นทางวิ่งใต้ดินตั้งแต่สวนสัตว์เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แยกตลาดต้นพยอม โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ประตูท่าแพ ย่านเชียงใหม่ไนท์บาซาร์ ตลาดสันป่าข่อย สถานีรถไฟเชียงใหม่ และเริ่มวิ่งบนดินที่แยกหนองประทีป ห้างบิ๊กซีดอนจั่น และห้างพรอมเมนาดาเป็นสถานีสุดท้าย