xs
xsm
sm
md
lg

กรมท่องเที่ยวแจงแนวปฏิบัติการใช้ช้างเพื่อการท่องเที่ยว ยันไม่เข้าข่ายทรมานสัตว์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาววรรณสิริ โมรากุล อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ชี้แจงถึงกรณีมีการเสนอผลการสำรวจขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ เวิลด์ แอนิมอล โพรเทคชัน (World Animal Protection) สำรวจช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวใน 6 ประเทศว่า ร้อยละ 77 ของช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย อินเดีย ศรีลังกา เนปาล ลาว และกัมพูชา มีสภาพความเป็นอยู่เลวร้าย โดยระบุว่าช้างเหล่านี้นอกจากจะถูกบังคับให้ความบันเทิงกับนักท่องเที่ยวแล้ว ในเวลาที่ไม่มีการแสดงยังต้องถูกล่ามด้วยโซ่ที่มีความยาวไม่ถึง 3 เมตร และ ต้องอาศัยอยู่ภายในอาคารคอนกรีต รวมทั้งไม่ได้รับการดูแลที่ถูกสุขลักษณะ มีการโชว์เพื่อความสนุกสนานให้กับนักท่องเที่ยว โดยให้ช้างเดินบนสะพานไม้เล็กเพียงแผ่นเดียว การยกขาต่อกันเป็นกลุ่มๆ รวมทั้งการถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยว พร้อมกับเสนอว่านักท่องเที่ยวจะมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงความเป็นอยู่ของช้างได้ ด้วยการไม่สนับสนุนปางช้างที่ละเมิดสิทธิ์ช้าง แต่เลือกปางช้างที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปดูชีวิตช้างเท่านั้น

ในส่วนของกรมการท่องเที่ยวกรมการท่องเที่ยว ได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำร่างแนวปฏิบัติในการใช้ช้างเพื่อการท่องเที่ยว ร่วมกับนักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยมุ่งหวังให้เกิดความปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยว ผู้ปฏิบัติงาน มีความปลอดภัยและส่งเสริมสวัสดิภาพที่ดีต่อช้าง ไม่กระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาทิ กำหนดแนวปฏิบัติด้านสุขภาพและสวัสดิภาพช้าง เช่น โซ่ต้องมีความแข็งแรง เหมาะสมกับขนาดตัวช้าง มีความยาวที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาและพื้นที่ รวมถึงกำหนดแนวปฏิบัติให้สถานประกอบการที่มีกิจกรรมที่มีการใช้ช้างแสดงความสามารถพิเศษด้านการแสดง โดยให้การแสดงมีความเหมาะสมต่อสุขภาพและพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้าง ไม่ให้มีการแสดงที่ขัดต่อพฤติกรรมตามธรรมชาติ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพช้าง นอกจากนี้ อุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดงจะต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อช้าง และไม่ทำจากวัสดุที่อาจเป็นพิษกับช้าง

ขณะเดียวกัน การใช้ช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะต้องไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557

อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กรมการท่องเที่ยวได้จัดทำมาตรฐานกิจกรรมปางช้างเพื่อการท่องเที่ยว โดยปัจจุบันมีสถานประกอบการได้รับการรับรองมาตรฐานกิจกรรมปางช้างเพื่อการท่องเที่ยว จำนวน 9 แห่ง ซึ่งทั้ง 9 แห่ง มีการปรับรูปแบบการแสดงเพื่อตอบสนองตามความต้องการและความสนใจของนักท่องเที่ยว อาทิ การขี่ช้างชมธรรมชาติ และอาบน้ำช้าง เป็นต้น

นอกจากนี้ กรมการท่องเที่ยวรณรงค์ให้นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการด้านธุรกิจนำเที่ยว ไม่ใช้บริการและไม่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เข้าข่ายการทรมานสัตว์ทุกชนิด
กำลังโหลดความคิดเห็น