นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ รักษาการแทนผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ ดร.สุดสรร ศิริไวทยพงศ์ ภาควิชาสูติศาสตร์ เธนุเวชวิทยา และวิทยาการสืบพันธุ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ภายหลังการผสมเทียมหลินฮุ่ย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยได้มีการติดตามสังเกตพฤติกรรม พร้อมตรวจทางห้องปฏิบัติการด้านฮอร์โมน ตรวจสุขภาพทั่วไป และตรวจการตั้งท้องด้วยวิธีอัลตร้าซาวด์ 3 ระยะ คือในช่วง 80 วัน, 108 วัน และ 128 วัน หลังการผสมเทียม พบว่า แพนด้าหลินฮุ่ยมีการตั้งท้อง แต่ภายหลัง 135 วันหลังการผสมเทียม พบว่าระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ได้ลดต่ำลงสู่ระดับปกติ แต่ไม่พบการตกลูกเกิดขึ้น จึงสรุปได้ว่า เป็นการยุติการตั้งท้องของแพนด้าหลินฮุ่ย ภายหลังมีการผสมเทียมและตั้งท้องเกิดขึ้นในปี 2560 ซึ่งในสัตว์ทุกชนิด สามารถมีภาวะที่เรียกว่า การดูดซึมกลับของตัวอ่อน และพบได้เสมอด้วยปัจจัยหลายอย่าง ที่แตกต่างกันไปในสัตว์แต่ละชนิดหรือสัตว์แต่ละตัว สำหรับในแพนด้านั้น ข้อมูลการตั้งท้องแล้วไม่ตกลูกพบได้จากสวนสัตว์หลายแห่งในต่างประเทศเช่นกัน ซึ่งสาเหตุเกิดจากอะไรนั้น ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์ตอบได้อย่างแน่ชัด และไม่มีข้อมูลจริงๆว่า แพนด้าตามธรรมชาติอาจจะมีภาวะนี้ด้วยเช่นกัน เพราะแพนด้าเหล่านี้ไม่เคยถูกตรวจการตั้งท้อง
อย่างไรก็ตาม สวนสัตว์เชียงใหม่ และคณะทำงานโครงการวิจัยและจัดแสดงแพนด้าในประเทศไทย จะยังคงทำการวิจัยเกี่ยวกับการเพาะขยายพันธุ์แพนด้าและอาจจะมีการวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องการดูดซึมกลับของตัวอ่อนและเรื่องอื่นๆ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม สวนสัตว์เชียงใหม่ และคณะทำงานโครงการวิจัยและจัดแสดงแพนด้าในประเทศไทย จะยังคงทำการวิจัยเกี่ยวกับการเพาะขยายพันธุ์แพนด้าและอาจจะมีการวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องการดูดซึมกลับของตัวอ่อนและเรื่องอื่นๆ ต่อไป