xs
xsm
sm
md
lg

มท.แจงการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจญ์ ปี 24

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กระทรวงมหาดไทยชี้แจงเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจญ์ พ.ศ.2524
1. “ฮัจญ์”เป็นศาสนบัญญัติสำคัญประการที่ 5 ในศาสนาอิสลามซึ่งชาวมุสลิมทุกคนจะต้องพยายามปฏิบัติให้ได้สักครั้งในชีวิต จึงมีชาวมุสลิมจากทั่วโลกไปเข้าร่วมพิธีดังกล่าวที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ปีละกว่า 2 ล้านคน การควบคุมผู้ประกอบกิจการรับจัดบริการขนส่งในกิจการฮัจญ์แก่ผู้ไปแสวงบุญในพิธีฮัจญ์ จึงเป็นภาระและหน้าที่ของรัฐทั่วโลก ที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามต้องอำนวยความสะดวกคุ้มครองความปลอดภัยและป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากประชากรมุสลิมในรัฐของตน
2. กิจการฮัจญ์ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจญ์ พ.ศ.2524 หมายถึงกิจการใดๆ ที่เกี่ยวกับการเดินทางของชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลาม เพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ไม่ว่าจะเป็นการจัดบริการ การอำนวยความสะดวกหรือความปลอดภัยก่อนเดินทาง ระหว่างเดินทาง ระหว่างประกอบพิธีฮัจย์หรือการเดินทางกลับภูมิลำเนา รวมทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการข้างต้น เช่น การประสานงานกับประเทศซาอุดีอาระเบีย ในการกำหนดยอดสูงสุดของผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในแต่ละปี การขอหนังสือเดินทางและวีซ่า เป็นต้น ดังนั้น กิจการฮัจญ์ตามกฎหมายปัจจุบันจึงมิใช่กิจกรรมทางศาสนา
3. สำหรับประเทศไทยรัฐบาลได้มีการบริหารจัดการกิจการฮัจญ์ โดยบัญญัติเป็นกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 โดยในครั้งแรกได้ออกเป็นประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 111 ลงวันที่ 3 เมษายน 2515 จัดตั้ง “คณะกรรมการควบคุมผู้รับขนส่งไปประกอบพิธีฮัจญ์”ขึ้น ประกอบด้วย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหลายส่วนราชการ โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเป็นฝ่ายเลขาธิการ ต่อมาจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจญ์ พ.ศ.2524 ขึ้นบังคับใช้โดยกำหนดให้มี “คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย” ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยมีกรมการศาสนาเป็นสำนักเลขาธิการ
4. ตลอดระยะเวลาประมาณ 35 ปี ที่ผ่านมาปรากฏข้อเท็จจริงว่ากิจการฮัจญ์ของประเทศไทย ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ตลอดจนมีปัญหาอุปสรรคต่างๆ เกิดขึ้นหลายประการ ซึ่งยังไม่อาจแก้ไขให้หมดสิ้นไป ผู้นำขององค์กรมุสลิมจึงได้เสนอต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพื่อให้เปลี่ยนแปลงหน่วยงานสำนักเลขาธิการ รัฐบาลจึงได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย เป็นสำนักเลขาธิการแทนกรมการศาสนา
5. โดยในการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 4 มีเหตุผลที่สำคัญ ดังนี้
5.1 กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครอง เป็นหน่วยงานที่มีราชการส่วนภูมิภาค ครอบคลุมทั้งประเทศและอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมุสลิมในพื้นที่
5.2 กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับองค์กรและผู้นำทางศาสนาอิสลาม ตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 อยู่แล้ว
5.3 หากมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมารับผิดชอบภารกิจส่งเสริมกิจการฮัจย์ เช่น การจัดตั้งเป็นองค์กรมหาชน อาจเป็นเพิ่มภาระทางงบประมาณ
6. ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจญ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านการพิจารณาของ สนช. มีสาระสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงสำนักเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทยจากกรมการศาสนาเป็นกรมการปกครอง โดยมิได้เปลี่ยนแปลงในเนื้อหาสาระที่เป็นหลักการสำคัญแต่อย่างใด
7. การส่งเสริมกิจการฮัจญ์ในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวกแก่คนไทยมุสลิม ผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์รวมทั้งคุ้มครองความปลอดภัย และป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ให้แก่ผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ มิใช่กรณีที่รัฐใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายเป็นรายบุคคลในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย แต่อย่างใด
8. สำหรับ “กองทุนสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์” เป็นกองทุนหมุนเวียนที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ประกอบกิจการรับจัดบริการขนส่งในกิจการฮัจญ์ที่เป็นเอกชนและมีการจดทะเบียนถูกต้อง โดยคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย กู้ยืมไปเพื่อชำระค่าเช่าที่พักล่วงหน้า ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย และเมื่อเรียกเก็บจากผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้แล้วก็จะส่งเงินดังกล่าวคืนเข้ากองทุนซึ่งในการให้กู้ยืมนั้นจะต้องมีการทำสัญญา และการค้ำประกันจากธนาคารในประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น