รมต.สำนักนายกฯ เผยประชุมวิป สนช.มีมติส่งร่าง พ.ร.บ.ควบคุมแลกเปลี่ยนเงิน ป้องกันฟอกเงินหนุนก่อการร้าย พร้อมแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจญ์ ให้กรมการปกครอง มท.คุมแทน วธ. เพื่อให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
วันนี้ (15 ส.ค.) เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่าที่ประชุมมีมติส่งร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ให้เป็นไปตามพันธกรณีที่ต้องเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เป็นการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการส่งหรือนำเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือตราสารเปลี่ยนมือออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศ รวมทั้งกำหนดให้เงินตรา เงินตราต่างประเทศ และตราสารเปลี่ยนมือดังกล่าวเป็นของตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรด้วย เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปราบการฟอกเงินและสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจญ์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งปัจจุบันอยู่ในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญ สนช.แต่เนื่องจากพบว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาในร่างฉบับนี้คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง จึงขอชี้แจงว่าในส่วนของรัฐบาลที่เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นไปเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการกิจการฮัจญ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลักการสำคัญคือ แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทยเป็นประธาน เพราะการที่กระทรวงมหาดไทยมีกลไกในพื้นที่จะช่วยให้การบริหารงานด้านนี้ได้รับการปรับปรุงพัฒนา
นายสุวพันธุ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้เพิ่มเติมกรรมการในส่วนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเข้ามา ให้มีคณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกิจการฮัจญ์ไม่เกิน 7 คน ประกอบด้วย ผู้ประกอบกิจการและผู้ที่เคยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ เพื่อให้ได้รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการดีขึ้น
“สรุปก็คือ เป็นการแก้ไขให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเข้ามาทำหน้าที่ส่งเสริมกิจการฮัจญ์แทนกระทรวงวัฒนธรรม ปรับองค์ประกอบกรรมการให้เหมาะกับสภาพปัจจุบัน แก้ไขบทกำหนดโทษเพื่อป้องกันไม่ให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ฉบับนี้ อยู่ในชั้นการแปรญัตติของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาอย่างรอบคอบ” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าว