นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ประเทศนี้ขัดแย้งและตีความได้ทุกเรื่องจริง ๆ ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายการเมืองเพิ่มไปอีก ว่ากำลังเถียงกันแต่เรื่องการอยากมีอำนาจ ถ้ายึดหลักการและอ่านคำถามพ่วงตามตัวอักษร และเข้าใจเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงคงไม่ต้องเถียงเลยว่า ส.ว. ควรมีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีหรือไม่ คนที่เห็นว่า ส.ว.ควรมีสิทธิเสนอชื่อนั้นต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้เสียก่อน คือ ใน 5 ปีแรก ส.ว. เกือบทั้งหมดมาจากการคัดเลือกของ คสช.ไม่ได้มาจากประชาชน เช่น ส.ส. ทำไม ส.ว.จึงควรมีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ที่โดยหลักการควรเป็นอำนาจของตัวแทนประชาชน ถ้าสนช.ต้องการให้ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ ทำไมไม่ระบุให้ชัดเจนในคำถามพ่วงเพื่อให้ประชาชนออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา และคำถามพ่วงที่ผ่านประชามตินั้น ถามว่าท่านเห็นชอบให้ ส.ว.ร่วมเห็นชอบตัวนายกรัฐมนตรี กับ ส.ส.หรือไม่เท่านั้น ไม่ได้ถามว่าท่านเห็นชอบให้ ส.ว. มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ดังนั้น การจะแก้รัฐธรรมนูญเกินเนื้อหาและเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงถือว่าเป็นการบิดเบือนเจตจำนงของประชาชนหรือไม่