xs
xsm
sm
md
lg

สภากทม.ชงเก็บค่าต๋งน้ำเสียบ้านละ 30 บาท-คอนโดเหมาจ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายชยาวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการบังคับใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย การบริหารทรัพยากรน้ำและการบำบัดน้ำเสีย เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯได้สรุปผลการศึกษาโดยใช้หลักการ ใครผลิตน้ำเสียมาก-จ่ายมาก ใครผลิตน้อย-จ่ายน้อย เมื่อตรวจสอบการใช้ปริมาณน้ำของอาคารบ้านเรือนขนาดต่าง ๆ แล้ว มีข้อสรุปว่า การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียของกทม.นั้นจะแยกออกเป็น 3 ส่วนคือ

ส่วนที่ 1 การจัดเก็บจากภาคครัวเรือนเดี่ยว หรือบ้านเรือนทั่วไป นั้น หากผลิตน้ำเสียไม่เกิน 10 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ไม่ต้องจ่ายค่าบำบัดน้ำ แต่หากใช้น้ำตั้งแต่ 10-100 ลบ.ม.เหมาจ่าย เดือนละ 30 บาท

ส่วนที่ 2 ภาคครัวเรือนขนาดใหญ่หรือผู้อาศัยจำนวนมาก เช่น แฟลต คอนโด หรืออาคารเชิงพาณิชย์ หากใช้น้ำไม่เกิน 500 ลบ.ม.เหมาจ่าย 500 บาท ตั้งแต่ 500 -1,000ลบ.ม. เหมาจ่าย 1,000 บาท และหากใช้ 1,000 ลบ.ม. ขึ้นไปจ่าย 1,500 และ

ส่วนที่ 3 ภาคอุตสาหกรรม จะคิดค่าน้ำเสียเป็นร้อยละ 80 จากปริมาณน้ำประปาที่ใช้ทั้งหมด ลบ.ม.ละ 4บาท หมายถึง หากใช้น้ำประปาจำนวนเท่าใดก็ตามถือว่าร้อยละ 80 เป็นน้ำเสียและต้องจ่ายค่าบำบัดลบ.ม.ละ 4 บาท

ทั้งนี้ในส่วนของการจัดเก็บนั้น จากการสำรวจพบว่า อาคารในส่วนที่ 1 และ ส่วนที่ 2 ที่เป็นบ้านเรือนและอาคารที่พักอาศัยรวมมีถึงร้อยละ 90 ของอาคารทั้งหมด ส่วนภาคอุตสาหกรรมมีเพียง ร้อยละ 10 เท่านั้น

ดังนั้นการจัดเก็บแบบเหมาจ่ายทำให้สามารถจัดเก็บตามบิลค่าน้ำประปาได้เลย ซึ่งทางการประปานครหลวง (กปน.)เป็นผู้จัดเก็บให้ ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้นจะต้องขอข้อมูลจากการประปาซึ่งอาจจะจัดเก็บเป็นรายเดือน ราย 3 เดือน หรือระยะเวลาที่เห็นว่าเหมาะสม โดยจะต้องเสนอให้ที่ประชุมสภากทม.เพื่อลงมติเห็นชอบก่อนที่จะประกาศใช้เพื่อกำหนดจัดเก็บต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น