xs
xsm
sm
md
lg

สนช.รับหลักการร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช.16 ประเด็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เสนอโดยคณะรัฐมนตรี โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชี้แจง

นายวิษณุ กล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลต้องเสนอร่างกฎหมายนี้ เพื่อแก้ไขกฎหมายเดิมที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2553 เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เมื่อโลกมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงไปเร็ว จึงจำเป็นต้องแก้ไข เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อความเหมาะสม รวมถึงปรับปรุงให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ร.บ.ดีอี) โดยการปรับปรุงร่างกฎหมายมี 16 ประเด็น หรือสรุปรวมเป็น 7 เรื่อง คือ การแก้ไขโครงสร้าง กสทช. โดยให้รวมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ให้รวมเป็นคณะเดียวกัน มีกรรมการ 7 คน การปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ในเชิงธุรการ และการบริหาร โดยแก้ไขอำนาจหน้าที่ให้สอดคล้องให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ดีอี การแก้ไขอำนาจ กสทช. โดยกำหนดให้มีอำนาจในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม การปรับปรุงเกี่ยวกับกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กทปส) โดยเพิ่มที่มาของรายได้และการจัดสรรรายได้ให้ชัดเจน การปรับปรุงเกี่ยวกับการทำงานของสำนักงาน กสทช. การเพิ่มเติมบทบาทสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง) ให้เข้ามาตรวจสอบ แล้วแจ้งให้ กสทช.ปรับปรุงแก้ไข หากพบว่าการใช้เงินของ กสทช.ใช้เงินไม่เหมาะสม และกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช.

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลสอบถามและคำนึงถึงยังมีอีก 3-4 ประเด็น คือ รัฐบาลตระหนักว่ากิจการสื่อสารโทรคมนาคมเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ รัฐบาลได้สอบถามเป็นที่แน่ใจแล้วว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างอยู่ มีผลบังคับจะไม่มีผลต่อกับร่างกฎหมายนี้ หากสุดวิสัยต้องมีการแก้ไขยังสามารถแก้ไขได้ทันที ,การทำกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ดีอี จึงจะมีการตรวจสอบให้การปรับปรุงร่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ร่างฯใช้เวลาจัดทำงานและส่งให้กฤษฏีกาพิจารณาโดยใช้เวลาปีเศษ จึงมีถ้อยคำที่อิงร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่สภาร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการร่าง (ร่างบวรศักดิ์) หากสนช.รับหลักการคงต้องตรวจสอบขัดเกลาให้สอดคล้องกัน และรัฐบาลตระหนักว่าก่อนการเสนอร่างกฎหมาย สนช. ได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารมวลชน สนช. ไปทำการศึกษาร่างกฎหมายนี้มาแล้วและมีรายงาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ตรวจสอบศึกษารายงานแล้วเห็นว่ามีสาระมีเหตุผลที่น่าจะนำมาปรับปรุงแก้ไขได้

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการอภิปราย สมาชิกส่วนใหญ่แสดงความเป็นห่วงประเด็นที่มาและโครงสร้างของกรรมการ กสทช. อำนาจหน้าที่ และอำนาจในการบริหารจัดการสำนักงาน กสทช. การบริหารกองทุน กทปส. ฯลฯ นายวิษณุ ชี้แจงว่า รัฐบาลเชื่อว่า ในการพิจารณาของกรรมาธิการหากสภารับหลักการจะปรับปรุงแก้ไขให้ร่าง พ.ร.บ.มีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับความต้องการและความไว้วางใจของสังคมได้มากขึ้น ที่ประชุม สนช.ลงมติรับหลักการด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 162 เสียง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 17 คน โดยแปรญัตติกำหนดเวลา 15 วัน กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น