xs
xsm
sm
md
lg

สอบทีวีดิจิตอล 4 ช่อง ถ่ายสดดร.วันชัยยิงตัว กสท.ชี้เป็นความผิดพลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วานนี้ (23 พ.ค.) คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ กสทช. เรียกผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ 4 ช่อง เข้าชี้แจงเหตุผลการถ่ายทอดเหตุการณ์จับกุมอาจารย์ม.ราชภัฏพระนคร เพื่อพิจารณาว่ามีความผิดตามมาตรา 37 หรือไม่ โดยตัวแทนผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ 4 ช่อง ได้แก่ ช่อง ไทยรัฐทีวี เนชั่น ทีวี ทีเอ็นเอ็น และ สปริงส์นิวส์ เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ที่มีพลโทพีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. เป็นประธาน

ทั้งนี้มีประเด็นที่คณะอนุกรรมการ เห็นว่า มีการออกอากาศเนื้อหาไม่เหมาะสม ในระหว่างการถ่ายทอดสด ได้แก่ การไม่เซ็นเซอร์ (เบลอ)ภาพในระหว่างที่ดร.วันชัย ซึ่งเป็นผู้ต้องหาใช้ปืนจี้ศีรษะตัวเอง ระหว่างการหลบหนีกรณียิงเพื่อนอาจารย์สองคนเสียชีวิตและตำรวจกำลังเจรจาล้อมจับ

ส่วนอีกประเด็น คือ การถ่ายทอดสดที่ใช้ระยะเวลานานเกินไป โดยไม่เห็นว่าเกิดผลประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 37 พระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ปี 2551 ที่มีเนื้อหาความรุนแรงผ่านการถ่ายทอดสด รวมถึงไม่ได้แจ้งการปรับผังรายการล่วงหน้า ต่อ กสทช. ตามเงื่อนไขของการเป็นผู้ประกอบกิจการ

พลโทพีระพงศ์ กล่าวว่า การถ่ายทอดสดเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น ทาง กสทช.เห็นว่าไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน ยังถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ผู้เสียชีวิตด้วย ซึ่งการเข้ามาพูดคุยครั้งนี้ไม่ได้เน้นถึงการลงโทษเนื่องจากมองว่าเป็นความผิดพลาด

ในขณะที่ผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์ที่เข้าชี้แจงเหตุผลต่อคณะอนุกรรมการฯ ต่างยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้การถ่ายทอดสดครั้งนี้สื่อถึงความรุนแรง แต่อาจมีบางช่วงโดยเฉพาะในช่วงแรกที่ไม่ได้มีการเซนเซอร์(เบลอ)ภาพ และควรพิจารณารูปแบบการนำเสนอของแต่ละสถานี ก่อนตัดสินว่าการถ่ายทอดสดครั้งนี้เป็นการกระทำผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ผู้บริหารทั้ง 4 ช่องยืนยันจุดยืนจะปฏิบัติหน้าที่สื่อสารมวลชนตามหลักวิชาชีพอย่างเต็มที่ และพยายามอย่างที่สุดที่จะรายงานสถานการณ์อย่างระมัดระวัง ทั้งเรื่องการนำเสนอภาพความรุนแรง การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของแต่ละสถานี จึงมีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้าง

ขณะนี้มุมมองของ กสทช.และสื่อยังไม่ตรงกันในหลายเรื่อง โดยเฉพาะมุมมองที่กสทช.เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่สื่อมองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อสังคม ดังนั้นจึงไม่อาจถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล และยังต้องมีการทำงานร่วมกันเพื่อวางแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสม โดยเฉพาะการนำเสนอผ่านโซเชียลมีเดีย

โดยจากนี้ กสทช.จะมีหนังสือส่งไปยังแต่ละสถานี เพื่อให้ชี้แจงเหตุผลในการถ่ายทอดเป็นลายลักษณ์อักษร สำหรับกรณีดังกล่าวเมื่อเป็นการเข้าข่ายการกระทำผิดมาตรา 37 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่ได้กำหนดโทษทางปกครองตั้งแต่ ตักเตือน ปรับ พักใช้ และเพิกถอนใบอนุญาต โดยทุกครั้งที่มีการออกคำสั่งทางปกครอง กสท.จะต้องมีการประชุมเพื่อลงมติอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น