MGR Online - กรรมการ กสทช. เผยเรียก 4 สถานีโทรทัศน์ “ไทยรัฐ - เนชั่น - TNN - สปริงนิวส์” ถ่ายทอดสด ดร.วันชัย ฆ่าตัวตายเข้าพบจันทร์นี้ ผู้บริหารช่องเนชั่นแจงเรียกประชุมทบทวนระบุระมัดระวังแล้ว ส่วน ไทยรัฐทีวี ระบุ ไม่ได้ถ่ายทอดสดฆ่าตัวตาย แต่เป็นการเจรจา เล็งใช้ระบบดีเลย์ฟีดไม่ให้ซ้ำรอย ส่วนนักข่าวภาคสนาม ชี้สถานการณ์เปลี่ยน ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุแบบนั้นขึ้น
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า ในวันจันทร์ที่ 22 พ.ค. นี้ อนุกรรมการกำกับผังรายการและเนื้อหารายการ จะเรียกสถานีโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดสดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าเจรจากับ ดร.วันชัย ดนัยตโมนุท อายุ 60 ปี อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ผู้ต้องหาคดีฆ่าอาจารย์ร่วมสถาบันเสียชีวิต 2 ศพ ก่อนที่เจ้าตัวจะใช้อาวุธปืนยิงตัวเองจนเสียชีวิต เบื้องต้น 4 สถานี ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี สถานีโทรทัศน์ทีเอ็นเอ็น 24 และ สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ เพื่อชี้แจงถึงการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ ยังรวมถึงสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมทีนิวส์ด้วย เพราะถ่ายทอดสดแบบสุ่มเสี่ยงเช่นกัน ที่สำคัญเคยมีประวัติโดนลงโทษมาแล้วในกรณีอื่น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้ไปที่สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ทราบว่า ผู้บริหารช่องมีนโยบายไม่ถ่ายทอดแช่ภาพที่เห็นภาพผู้ตกเป็นข่าว แม้จะเสียเปรียบคู่แข่ง ถือเป็นตัวอย่างของสื่อที่นโยบายของผู้บริหารชัดเจน คำนึงผลกระทบต่อสังคม มากกว่าเรตติ้ง ไม่แลกตัวเองลดระดับลงเพื่อเรียกคนดู ทั้งนี้ เห็นว่า การถ่ายทอดสดข่าวอาชญากรรมนั้น ข่าวอาชญากรรมไม่ใช่ข่าวกีฬา มาตรฐานรายการข่าวเดิมก็ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องลดเกรดตนเองลง เพราะคนที่เคยชอบดูจะไม่ดู ฝากคนดูให้สนับสนุนช่องที่ยังรักษามาตรฐาน มีหลักการ เคารพจรรยาบรรณ และ คนดู เพราะเขาจะได้มีกำลังใจว่า การไม่ตามกระแสก็ได้รับการตอบรับจากสังคม
“ช่องฟรีทีวีเดิม รอบนี้ก็คงต้องขอบคุณ ไม่หวั่นไหวไปกับกระแส เพราะถ้าสดออกช่อง 3 ช่อง 7 ด้วย คนดูคงอลหม่านกันกว่านี้ ช่องฟรีทีวีน้องใหม่ คงต่อว่า กสทช. ยากแล้วว่าคนไม่เข้าถึงฟรีทีวีดิจิตอล เพราะวานนี้พี่ ๆ ส่งสดแบบเอชดี ถึงคนทั้งประเทศได้ดูการพยายามฆ่าตัวตายจนช็อก ไม่ใช่คนไม่เข้าถึงทีวีดิจิตอล แต่ทีวีดิจิตอลบางส่วนยังเข้าไม่ถึงใจคนดู อย่าแลกด้วยรายการแรง ๆ ควรสร้างคุณภาพสม่ำเสมอให้คนดูรักและเชื่อถือ กสทช. ทำงานไม่ถูกใจก็ด่าว่า ฟ้องร้องไป แต่ไม่ควรอ้างว่าต้องสร้างเรตติ้งเพื่ออยู่ให้รอดด้วยการถ่ายทอดสดลักษณะนี้ เพราะคนดูจะลดความเชื่อมั่นลง” น.ส.สุภิญญา กล่าว
ด้าน นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เจ้าของสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า ตนได้เรียกประชุมบรรณาธิการ และนักข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์เพื่อทบทวนการทำงานของทีมเนชั่นทีวี แนวทางการทำงานถ่ายทอดสดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ทีมเนชั่นทีวี มีบรรณาธิการใหญ่ดูแลภาพรวม บรรณาธิการออนแอร์ และบรรณาธิการข่าวภาคสนาม ประสานงานกันตลอดเวลา
“พวกเราใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอภาพที่สื่อถึงความรุนแรงในหลาย ๆ วิธี เช่น ภาพเบลอเฉพาะจุด ภาพเบลอทั้งจอ ถอยภาพระยะไกล อาจจะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นบ้าง แต่ขอให้มั่นใจได้ว่า เนชั่นทีวีได้คำนึงถึงผลกระทบเชิงสังคมเป็นลำดับแรก และการทำหน้าที่ของสถานีข่าว 24 ชั่วโมง ที่มีหลักการทำงานชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ข้อผิดพลาดใด ๆ ถือเป็นบทเรียนที่พวกเราน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ทุกกรณี” นายอดิศักดิ์ ระบุ
ส่วน นายประณต วิเลปสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และออกแบบ บริษัท ทริปเปิ้ล วี บรอดคาสท์ จำกัด เจ้าของสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า การถ่ายทอดสดเหตุการณ์ดังกล่าว เริ่มต้นทีวีไม่ได้ถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตาย และสื่อทีวีก็ไม่มีใครที่อยากจะถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตาย สื่อถ่ายทอดสดเหตุการณ์ตำรวจล้อมจับ เกลี้ยกล่อมผู้ต้องหาคดีฆ่าคนตายให้มอบตัว แต่ผู้ต้องหาปลิดชีพตัวเองในตอนท้าย ภาพรุนแรงที่หลุดออกมาหน้าจอ โดยเฉพาะภาพสดอาวุธปืน แม้จะเป็นชุดภาพกลางหรือไกล ทั้งมีเดียมชอต ลองชอต หลายสถานีใช้การเซ็นเซอร์ด้วยภาพโมเสก อีกหลายสถานีเลือกแก้ปัญหาด้วยการใช้มุมภาพไม่เห็นผู้ต้องหา จุดนี้จะเป็นบทเรียนของสถานีในการควบคุมการรายงานสด ซึ่งหมายถึงการนำระบบดีเลย์ฟีด (Delayed Feed) มาใช้ในการถ่ายทอดครั้งต่อไป หรือการใช้แบล็กเอาต์ฟีด (Black Out Feed) สดไปเลย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสถานีในการรับมือเหตุการณ์วิกฤต ในจุดไคลแม็กซ์ของเหตุการณ์สด
สอดคล้องกับ น.ส.วิมลวรรณ ธรรมภักดี ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ที่ทำข่าวในที่เกิดเหตุตลอด 5 - 6 ชั่วโมง ให้สัมภาษณ์ในรายการถามตรง ๆ กับ จอมขวัญ หลาวเพ็ชร ระบุว่า ตอนแรกตนและผู้สื่อข่าวอีกคนหนึ่งได้รับภารกิจเข้าไปปิดล้อม เพื่อที่จะจับกุมตัว ดร.วันชัย ซึ่งเป็นฆาตกรที่ฆ่าอาจารย์ 2 คน และมีอาวุธปืนอยู่ในมือ พอไปถึงสถานการณ์เปลี่ยน คือ ปิดล้อมจับกุม เป็นเรื่องของการเจรจา
ในตอนหนึ่ง น.ส.วิมลวรรณ กล่าวว่า ตอนแรกคิดว่าภารกิจดังกล่าวแค่เดี๋ยวเดียวก็เรียบร้อย สามารถจับกุมตัว ดร.วันชัย มาดำเนินคดี แต่พอภารกิจเปลี่ยน ทุกคนไม่คิดว่าจะเกิดเหตุแบบนี้เกิดขึ้น เพราะด้วยท่าทีของ ดร.วันชัย ที่ส่งผ่านออกมาจากภาพที่เราเห็นตลอดเวลา ผ่อนคลายเป็นระยะ หรือบางครั้งก็มีความเครียดขึ้นมาบ้าง แต่จากการเจรจา สื่อส่วนใหญ่ทุกครั้งที่ตำรวจปรบมือ เราจะได้ยินเสียงปรบมือตลอดเวลา ทุกคนก็ปรบมือตาม เพราะคือสัญญาณที่ใกล้จะจบลงด้วยดี เราอยากเห็นภาพที่สุดท้าย ดร.วันชัย ญาติคนสนิทรวมถึงลูกศิษย์โผกอดกัน ซึ่งเราอยากจะเห็น
ด้าน นายธนากร ริตุ ผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรม สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี กล่าวว่า ถ้าหากไม่นับสถานการณ์ทางการเมืองก่อนหน้านี้ กรณีนี้เป็นอีกหนึ่งบทเรียน เป็นหนึ่งบทบาท และรูปแบบใหม่ของสื่อ สมัยนี้สื่อไปเร็วมาก โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย สื่อเองก็ต้องปรับตัว