xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่าย ปชช.-ผู้ปกครอง ร้องผู้ตรวจฯ วินิจฉัยการปฏิบัติหน้าที่ของ รมว.ศธ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี และสมาชิก ในนามเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ และเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายธาวิน อินทร์จำนงค์ รองเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้วินิจฉัยการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีการจัดระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าศึกษาในระดับต่างๆ อย่างไม่เท่าเทียม ซึ่งอาจลิดรอนโอกาสเข้าถึงการศึกษาต่อผู้ยากไร้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 49 ที่บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี อย่างทั่วถึง มีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และมาตรา 80 การพัฒนาคุณภาพและมาตราฐานการศึกษาในทุกระดับ ต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไข พ.ศ.2545 และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ และเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ เห็นว่าในเรื่องคุณภาพการศึกษา ไม่ว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย การใช้คะแนนโอเน็ตในการสอบเข้าเรียนที่สูงขึ้น ไม่ได้ทำตาม พ.ร.บ.การศึกษา มาตรา 22 และ 24 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 และ 80 เพราะให้เรียนเหมือนๆ กัน ไม่ได้ตามวัย ศักยภาพ และความถนัด ความสนใจของผู้เรียน ทั้งที่เด็กไม่ชอบ ไม่ถนัด ซึ่งเห็นได้จากการประเมินผลนักเรียนนานาชาติของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ ที่พบว่าระบบการศึกษาไทยตกต่ำ

ส่วนโอกาสทางการศึกษา การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้จัดการศึกษาฟรี มีคุณภาพต่อผู้ยากไร้ แต่การที่แต่ละโรงเรียนใช้เกณฑ์คะแนนการสอบโดยคัดเลือกเด็กเก่ง โดยเฉพาะโรงเรียนดีเด่นดังของรัฐ และการคัดเด็กออกระหว่างช่วงชั้นนั้น เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.การศึกษา ซึ่งโรงเรียนทุกโรงเรียนจะต้องรับเด็กได้ทั้งหมด ไม่มีสิทธิที่จะคัดเด็กออก เพราะเป็นโรงเรียนของรัฐบาล รวมทั้งการเก็บเงินแป๊ะเจี๊ยะที่ไม่ควรเกิดขึ้น

เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ และเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินไต่สวน และหากพบว่าไม่ได้การตามหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญ ขอให้แจ้งไปยังรัฐบาล เพื่อแก้ไขโดยเร่งด่วน และยกเลิกคำสั่งเกณฑ์การคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในระดับต่างๆ ด้วยวิธีสอบคัดเลือกในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หากมีจำนวนเด็กเกิน ขอให้ใช้วิธีการจับสลาก ยกเลิก และปรับปรุงแก้ไขเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบเหมารวมแบบเดียว แต่ให้ทุกภาคมีส่วนร่วมพัฒนาหลักการเด็ก ตามวัย และศึกยภาพ ความถนัดและความสนใจขอผู้เรียน ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น