xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์เตือนเกษตรกร"หมามุ่ย"พันธุ์ไทยจะ"คัน" เสี่ยงขายไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้แจ้งเตือนเกษตรกรผู้ที่สนใจเพาะปลูกหมามุ่ยในเชิงพาณิชย์เพื่อทดแทนยางพาราที่มีราคาตกต่ำ ให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของสายพันธุ์ที่น่าเชื่อถือก่อน เพราะอาจถูกหลอกให้ปลูกหมามุ่ยที่ไม่ใช่ชนิดที่ตลาดต้องการ ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคและต้องสูญเสียเงินในการลงทุน เนื่องจากหมามุ่ยสายพันธุ์ที่ขายได้จะเป็นสายพันธุ์จีนและอินเดีย เพราะมีผลวิจัยว่าสามารถนำมาผลิตเป็นยาสมุนไพร และไม่เกิดอาการคันเหมือนสายพันธุ์ของไทย

ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้ พาณิชย์จังหวัดจังหวัดอำนาจเจริญ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่เกษตรกรจังหวัดอำนาจเจริญร้องทุกข์ผ่านไปยังนายกรัฐมนตรีให้ช่วยแก้ปัญหาหมามุ่ย ที่นำไปปลูกทดแทนยางพาราที่มีราคาตกต่ำ แต่ไม่สามารถติดต่อกับบริษัท บ้านไร่เกษตรสร้างสรรค์ ออร์แกนิค จำกัด ซึ่งเป็นผู้แนะนำให้ปลูกและรับซื้อได้ ซึ่งเบื้องต้น จากการตรวจสอบ บริษัทยืนยันว่าจะรับซื้อหมามุ่ยจากเกษตรกรต่อไปในราคากิโลกรัม ละ 200 บาท ไม่ใช่ราคา 2,000 บาทตามที่มีข่าวลือ

“ปัจจุบันการปลูกหมามุ่ยมีหลายสายพันธุ์ และราคาขายเมล็ดสดอยู่ที่ กก.ละ 200 บาท ไม่ได้สูงมากอย่างที่เป็นข่าว อย่างไรก็ตาม ในการปลูกพืชทดแทนแต่ละครั้ง เกษตรกรผู้ที่จะปลูกควรมั่นใจว่ามีตลาดรองรับ และต้องติดต่อสอบถามจากพาณิชย์จังหวัด ก่อนตัดสินใจ”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 ม.ค.59 นายสุนทร ลำงาม เกษตรกรจังหวัดอำนาจเจริญ และเพื่อนเกษตรกรอีก 2 คน ได้ร้องทุกข์ไปยังนายกรัฐมนตรีให้ช่วยแก้ปัญหาหมามุ่ย ที่ผู้ร้องเรียนได้ปลูกทดแทนยางพาราที่มีราคาตกต่ำ โดยมีบริษัท บ้านไร่เกษตรสร้างสรรค์ฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ชักชวนให้เป็นสมาชิกร่วมลงทุนปลูกหมามุ่ย ค่าธรรมเนียมแรกเข้ารายละ 4,900 บาท ได้พันธุ์หมามุ่ยคนละ 300 เมล็ด และสัญญาจะรับซื้อผลผลิต โดยอ้างว่ารายได้สูงถึง กก.ละ 2,000 บาท หรือไร่ละ 150,000 บาท แต่เมื่อผลผลิตหมามุ่ยเก็บเกี่ยวได้ ก็ไม่สามารถติดต่อบริษัทฯ รับซื้อสินค้าได้ จึงมีการร้องขอให้ภาครัฐช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม เท่าที่มีการตรวจสอบ พบว่า บริษัท ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกับสำนักงานเกษตรจังหวัด ไม่ได้มีเจตนาหลอกลวงแต่อย่างใด และยังยืนยันที่จะรับซื้อหมามุ่ยจากเกษตรกรอยู่ ดังนั้น ยังไม่เข้าข่ายความผิดหลอกลวง แต่เมื่อใดที่เกษตรกรนำเมล็ดไปขายแล้ว บริษัทฯ บ่ายเบี่ยง หรือไม่รับซื้อ จึงจะเข้าข่ายความผิดหลอกลวงประชาชน เบื้องต้น ทางจังหวัดอำนาจเจริญจะติดตามเรื่องนี้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น