xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.เล็งสรุปแผนใช้วัตถุดิบผลิตปิโตรฯปลายปี59 รับมือก๊าซฯในอ่าวไทยลด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า กลุ่มปตท.เตรียมสรุปแนวทางการเลือกใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือแนฟทาที่มาจากน้ำมันดิบ เป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมีในช่วงปลายปี 2559 ถึงต้นปี 2560 เพื่อรองรับปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยที่จะลดลง หลังแหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่งใหญ่ของไทยจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2565-2566 เพื่อป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศได้รับความเสียหาย

"ปัจจุบันเราใช้ก๊าซฯไปทำปิโตรเคมีไม่เยอะประมาณ 15% ถ้าเรามีเวลาเตรียมอีก 2-3 ปีเราสามารถนำโพรเพน เอา LPG ก็ได้มาทำ หรืออาจจะ convert เป็นแครกเกอร์จากแนฟทา จากน้ำมันก็ได้ เรากำลังเตรียมการอยู่ ถึงแม้ว่าการขุดเจาะหรือการต่อสัญญาจะล้าช้าออกไป แต่เราไม่รอเพราะอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำสำคัญมาก เราไม่ทำให้กลางน้ำและปลายน้ำมีปัญหาแน่นอน เพราะจะกระทบกับเศรษฐกิจแน่นอน"นายชาญศิลป์ กล่าว

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่จะถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และมีการใช้ในส่วนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่มากนัก แต่ในส่วนของกลุ่มปตท.ใช้ก๊าซฯเป็นพื้นฐานในการผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของกลุ่ม ขณะที่แหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่งกำลังจะหมดอายุสัญญาสัมปทาน ประกอบกับไทยยังไม่มีการเปิดให้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมแห่งใหม่ ทำให้กลุ่มปตท.ต้องศึกษาแนวทางเลือกเพื่อหาวัตถุดิบที่เหมาะสมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศ ที่ปัจจุบันส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเม็ดพลาสติกในส่วนอุตสาหกรมกลางน้ำและปลายน้ำในแต่ละปีมากกว่า 1 ล้านล้านบาท หรือราว 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)

สำหรับแนวทางที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ได้แก่ การเลือกใช้ก๊าซฯเป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมีเหมือนเดิม ซึ่งอาจจะนำเข้าก๊าซโพรเพน หรือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ซึ่งมีองค์ประกอบทั้ง C3 และ C4 เข้ามาเป็นวัตถุดิบ แล้วเข้าสู่โรงแครกเกอร์ เพื่อนำไปผลิตปิโตรเคมีต่อไป โดยทั้งโพรเพน และ LPG มีอยู่ในตลาดซึ่งสามารถหาซื้อได้ แต่อาจต้องลงทุนดัดแปลงสาธารณูปโภคบางส่วนเพื่อรองรับ เช่น ในส่วนของคลัง LPG แห่งที่ 2 ที่มีปริมาณเหลือหลังจากการใช้ LPG ลดลงไปนั้นก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในกรณีนี้ได้

ส่วนแนวทางที่สอง เป็นการเลือกใช้แนฟทา ซึ่งมาจากผลิตภัณฑ์น้ำมีน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมี ซึ่งแนฟทาก็มีในตลาดเช่นกัน อีกทั้งกลุ่มปตท.ก็มีแนฟทาที่ออกจากกระบวนการกลั่นรวม 1.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งปัจจุบันขายให้กับกลุ่มบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และมีการส่งออก โดยหากใช่แนฟทาเป็นหลักในการผลิตปิโตรเคมีก็อาจจะต้องปรับปรุงหรือสร้างถังเพื่อรองรับต่อไป

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า กลุ่มปตท.คงจะเลือกตัดสินใจในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง โดยจะพิจารณาทั้งความเหมาะสม ความมีเสถียรภาพ และต้นทุนการผลิต ซึ่งคาดว่าจะตัดสินใจได้ในช่วงปลายปี 2559 ถึงต้นปี 2560 เพื่อรองรับการสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้มีความต่อเนื่อง เพราะหากรัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆทั้งการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียม หรือการเปิดสัมปทานรอบใหม่ ก็จะทำให้ก๊าซฯ ในอ่าวไทยหมดในช่วง 6-7 ปีข้างหน้า ท่ามกลางความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีมากถึง 5 พันล้านลูบาศก์ฟุต/วัน ส่วนใหญ่มาจากการผลิตในอ่าวไทยกว่า 3 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน นำเข้าจากเมียนมาร์กว่า 1 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และนำเข้าในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ราว 700-800 ล่านลูกบาศก์ฟุต/วัน

ขณะที่อุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง นับว่ามีความสำคัญของต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันไทยมีการผลิตเม็ดพลาสติกราว 7-8 ล้านตัน/ปี โดยราวครึ่งหนึ่งมาจากการผลิตของกลุ่มปตท.
กำลังโหลดความคิดเห็น