xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นสหรัฐฯดิ่งแรง-ทองขึ้น ตื่นจีนลดค่าหยวน น้ำมันต่ำสุดรอบ 6 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงเมื่อคืนนี้ (11 ส.ค.) ภายหลังจีนประกาศปรับลดค่าเงินหยวน ซึ่งจุดกระแสความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวหนักกว่าเดิม

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดการซื้อขายวันที่ 11 ส.ค. ในแดนลบ โดยดัชนีดาวโจนส์ลดลง 212.33 จุด หรือ 1.21% ปิดที่ 17,402.84 จุด ส่วนดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 20.11 จุด หรือ 0.96% ปิดที่ 2,084.07 จุด ขณะที่ดัชนีแนสแด็กลดลง 65.01 จุด หรือ 1.27% ปิดที่ 5,036.79 จุด

ธนาคารกลางจีนประกาศลดค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯลงเกือบ 2% เมื่อวันอังคาร เพื่อหาทางผลักดันแผนปฏิรูปตลาด หลังการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้เกิดกระแสความกังวลเรื่องเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น และวิตกว่าเศรษฐกิจจีนอาจอ่อนแอกว่าที่คาดหรือไม่

ธนาคารกลางจีนระบุว่า ธนาคารได้ตัดสินใจปรับปรุงระบบการกำหนดอัตราค่ากลางสกุลเงิน เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐสามารถสะท้อนสถานการณ์ในตลาดได้ดียิ่งขึ้น

ข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลว่า เศรษฐกิจจีนอาจจะชะลอตัวลงอีก หลังทางการจีนเปิดเผยตัวเลขส่งออกที่ซบเซาในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีกระแสคาดการณ์ด้วยว่าความเคลื่อนไหวจากฝั่งจีน อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เลื่อนการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป เนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวอาจกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

ขณะที่หุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง แอปเปิล และ เจเนอรัล มอเตอร์ส ลดลง 5.2% และ 3.5% ตามลำดับ จากความกังวลเพราะทั้ง 2 บริษัทต่างพึ่งพาตลาดการค้าที่เติบโตอย่างรวดเร็วในจีน

ด้วยความวิตกกังวลต่อการเคลื่อนไหวลดค่าเงินหยวนของจีน กระตุ้นให้นักลงทุนหันไปถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ส่งผลให้ราคาทองคำเมื่อวันอังคาร (11ส.ค.) ปิดบวก 4 วันซ้อน

โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 3.60 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,107.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสอินเตอร์มีเดียต (WTI) หรือไลต์สวีตครูด ตลาดไนเม็กซ์ นิวยอร์กปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (11 ส.ค.) ภายหลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เปิดเผยว่า การผลิตน้ำมันของโอเปกได้พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปีในเดือนก.ค.

ทั้งนี้น้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนกันยายน ลดลง 1.88 ดอลลาร์ ปิดที่ 43.08 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2009

ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน ลดลง 1.23 ดอลลาร์ ปิดที่ 49.18 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

สัญญาน้ำมัน WTI ปรับตัวลง หลังจากโอเปกรายงานว่า ประเทศสมาชิกผลิตน้ำมันรวมกัน 31.51 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2012 โดยผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น 101,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับในเดือนมิ.ย. และผลิตสูงกว่าถึง 1.5 ล้านบาร์เรลเมื่อเทียบกับเพดานที่ระดับ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ตลาดน้ำมันโลกกำลังเผชิญกับภาวะน้ำมันล้นตลาด

ขณะเดียวกัน โอเปกระบุว่า อิรักผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น 46,700 บาร์เรลต่อวันในเดือนก.ค. และผลิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 4.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ซาอุดิอาระเบียผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น 39,200 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 10.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน

อย่างไรก็ดี การผลิตน้ำมันของสหรัฐลดลง 260,000 บาร์เรลต่อวัน แต่โอเปกคาดว่าการผลิตของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ และเพิ่มขึ้น 320,000 บาร์เรลต่อวันในปีหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น