xs
xsm
sm
md
lg

กฤษฎีกาชี้ขาดใช้มือถือขณะรถติดไฟแดงถือว่าผิดกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมาย กรณีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะหยุดรถตามสัญญาณจราจรสีแดง (ไฟแดง) โดยระบุว่า ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2558 กรณีที่มีอดีตผู้พิพากษาคนหนึ่ง ตั้งประเด็นผ่านสื่อออนไลน์เกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะรถจอดติดสัญญาณไฟแดง โดยเห็นว่าไม่เป็นความผิดตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.2522 เนื่องจากความหมายตามพจนานุกรม คำว่า การขับขี่ หมายความว่า สามารถบังคับเครื่องยนต์ให้ยานพาหนะเคลื่อนที่ไปได้ แต่ขณะรถติดสัญญาณไฟแดงรถไม่ได้เคลื่อนที่ จึงก่อให้เกิดปัญหาความเคลือบแคลงในทางกฎหมาย และเมื่อ สตช. สอบถามความเห็นของหน่วยงานในสังกัด ระบุว่า การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะรถจอดติดสัญญาณไฟแดงโดยไม่มีอุปกรณ์สำหรับสนทนาเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ เนื่องจากผู้ขับขี่รถถือว่า เป็นบุคคลผู้ใช้ทางเดินรถ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทั้งที่เป็นข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ มิใช่ตีความตามพจนานุกรม กรณีการจอดรถในขณะติดสัญญาณไฟแดง ยังถือว่า ผู้ขับขี่ ต้องควบคุมรถอยู่ตามกฎหมายจราจร และพร้อมที่จะขับเคลื่อนต่อไปเมื่อมีสัญญาณไฟเขียว ผู้ขับขี่จำเป็นต้องมีสติและสมาธิตลอดเวลาในการใช้มือทั้งสองข้างควบคุมรถ
อย่างไรก็ตาม สตช.มีความเห็นว่า เนื่องจากกรณีนี้ยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งผู้ให้ความเห็นเป็นอดีตผู้พิพากษา จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ อันอาจทำให้เจ้าพนักงานถูกฟ้องร้องดำเนินคดี แต่หากไม่ดำเนินการใดๆ อาจทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดความเคยชิน และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ สตช. จึงขอหารือว่า การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะหยุดรถตามสัญญาณจราจรไฟแดง เป็นความผิดตามมาตรา 43 (9) แห่งพ.ร.บ.จราจรทางบกฯ หรือไม่
เบื้องต้นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 4) ได้เชิญตัวแทนผู้เกี่ยวข้อง และพิจารณาข้อกฎหมายแล้ว มีความเห็น 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก ความหมายของการขับรถ และการหยุดรถตามสัญญาณจราจรไฟสีแดง อยู่ในความหมายของการขับรถหรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.จราจร ทางบกฯ กำหนดให้ผู้ขับขี่ซึ่งควบคุมรถอยู่ในทางเดินรถ จะต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจร และเครื่องหมายจราจร ซึ่งรวมถึงการหยุดรถหลังเส้นให้รถหยุด เพื่อรอสัญญาณไฟจราจรด้วย
ดังนั้นการหยุดรถเพื่อรอสัญญาณไฟจราจร จึงเป็นเพียงการปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรเท่านั้น โดยผู้ขับขี่ยังต้องควบคุมรถ และปฏิบัติตามสัญญาณไฟแดงเจรจรต่อไป การหยุดรถตามสัญญาณจราจรไฟสีแดงดังกล่าว จึงยังอยู่ในความหมายของการขับรถ
ประการสอง ขอยกเว้นการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถ ตามที่บัญญัติไว้ใน (9) ของมาตรา 43 พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ บัญญัติห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถในกรณีต่างๆ เช่น ขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ ขับรถในขณะเมาสุรา ขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจร ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว ฯลฯ, รวมทั้งในมาตรา 43 (9) กำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งหากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อห้ามดังกล่าว จะต้องได้รับโทษปรับตั้งแต่ 400 บาท ถึง 1,000 บาท
ทั้งนี้ เนื่องจากการที่ผู้ขับขี่ถือ หรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถ ทำให้ผู้ขับขี่ต้องควบคุมการจับพวงมาลัยด้วยมือเพียงข้างเดียว ซึ่งมีโอกาสที่ผู้ขับขี่จะเสียการควบคุมและการบังคับรถได้ อันส่งผลให้ประสิทธิภาพ ในการขับรถลดลง และอาจทำให้เกิดการกีดขวางทางจราจร หรือทำให้การเจราจรติดขัด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาจราจร และยังอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนด้วย
ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้รถ จึงกำหนดห้ามผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถ โดยกำหนดข้อยกเว้นไว้กรณีเดียว คือ กรณีการใช้งานโดยผ่านอุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น
จากข้อพิจารณาทั้งสองประเด็น คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า เมื่อความในมาตรา 43(4) กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าบัญญัตินี้ ประสงค์จะห้ามการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะผู้ขับขี่ควบคุมรถอยู่ในทางเดินรถ ไม่ว่ารถจะอยู่ในระหว่างการเคลื่อนที่หรืออยู่ระหว่างการหยุดรถตามสัญญาณจราจร โดยยกเว้นไว้เฉพาะการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น
ฉะนั้นการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ในขณะที่หยุดรถตามสัญญาณจราจรไฟสีแดง โดยไม่ใช้อุปกรณ์เสริมตามข้อยกเว้น จึงเป็นการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระหว่างการขับรถ และเป็นความผิดตามมาตรา 43 (9) ซึ่งมีโทษตามมาตรา 157 แห่งพ.ร.บ.จราจรทางบท พ.ศ.2522
ทั้งนี้ อดีตผู้พิพากษาที่ถูกอ้างถึงในกรณีนี้คือ นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา โดยได้โพสต์แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัว Chuchart Srisaeng เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557
กำลังโหลดความคิดเห็น