xs
xsm
sm
md
lg

ติดคุกจริง 2 เดือน ไม่รอลงอาญา ข้าราชการเมาแล้วขับ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลแขวงดอนเมืองจำคุกจริง 2 เดือน โดยไม่รอลงอาญา พร้อมสั่งเพิกถอนใบขับขี่ ข้าราชการหนุ่มใหญ่เมาแล้วขับ เป่าเครื่องตรวจมีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด

วันนี้ (2 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศาลแขวงดอนเมือง ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ ได้มีคำพิพากษาคดีเมาแล้วขับที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีแขวงดอนเมือง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอุทัย ปัญญาพิมพ์ อายุ 47 ปี อาชีพรับราชการ มีบ้านพักย่าน จ. นนทบุรี เป็นจำเลยในความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา และความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522

กรณีเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2558 เวลากลางคืน จำเลยได้ขี่รถจักรยานยนต์มาตามถนน แล้วถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง ตั้งจุดสกัดตรวจแอลกอฮอล์ พบว่า จำเลยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 396 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ นอกจากนี้ จำเลยยังไม่ยอมแสดงบัตรประจำตัวประชาชน และใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ จึงขอให้ลงโทษจำเลยตามความผิดด้วย จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยกระทำผิดจริง พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานขับรถ จยย. ในขณะเมาสุรา จำคุก 4 เดือน ฐานไม่แสดงใบอนุญาตขับรถ ปรับ 1,000 บาท ฐานไม่แสดงบัตรประชาชน ปรับ 200 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยไว้ 2 เดือน ปรับ 600 บาท แต่เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงมาก จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ประชาชนโดยรวม จึงไม่เห็นควรให้รอการลงโทษ และให้เพิกถอนใบอนุญาตขับรถของจำเลย

ด้าน นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ปกติแล้วผู้พิพากษาจะบังคับใช้กฎหมายตามที่ได้มีการบัญญัติไว้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพยานหลักฐานในคดี รวมทั้งการใช้ดุลพินิจโดยศาลจะให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เช่น คดีเมาแล้วขับศาลจะใช้ดุลพินิจพิเคราะห์ข้อเท็จจริง และพฤติการณ์การกระทำผิดของจำเลยทั้งหมดก่อนจะมีคำพิพากษา ส่วนการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับบทลงโทษจำคุก และโทษปรับนั้น ความเห็นโดยรวมแล้ว ก็น่าจะทำให้ผู้กระทำผิดรู้สึกยำเกรง และหลาบจำบ้าง

ทังนี้ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2550 ฉบับที่ 7 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2550 มาตรา 11ให้เพิ่มเติม มาตรา 160 ตรี แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2552 ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) หรือเมาแล้วขับ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
กำลังโหลดความคิดเห็น