xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าประเมินภัยแล้งกระทบ GDP 0.52% ฉุด ศก.โตไม่ถึง 3%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยข้อมูลการสำรวจประเมินสถานการณ์ภัยแล้งประเทศไทย มาจากการสำรวจเกษตรกร 1,200 ตัวอย่างทั่วประเทศ ศึกษาผลกระทบภัยแล้งช่วงที่ 1 ตั้งแต่หลังเดือนตุลาคมปี 2557 จนถึงพฤษภาคม 2558 และช่วงที่ 2 กลางเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งมีปัญหาฝนทิ้งช่วง โดยขณะนี้หลายหน่วยงานยอมรับว่าปัญหาภัยแล้งถือว่าหนักสุดในรอบ 50 ปี ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกหลายจังหวัด

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากข้อมูลหอการค้าไทยขณะนี้พบว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาภัยแล้งโดยเฉพาะรอบ 2 ที่สถานการณ์อาจคลี่คลายในช่วงเดือนกันยายน 2558 ซึ่งผลกระทบดังกล่าวจะครอบคลมพื้นที่เพาะปลูกข้าวเฉลี่ย 11 ล้านไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ 60 ล้านไร่ ซึ่งแน่นอนผลกระทบที่เกิดขึ้นและทำให้ต้องลดการเพาะปลูกหลายพื้นที่ ทำให้ปริมาณข้าวปีนี้หายไปประมาณ 4 ล้านตัน ซึ่งผลกระทบดังกล่าวกระทบเศรษฐกิจไทยโดยรวมเป็นมูลค่า 68,144.97 ล้านบาท หรือกระทบผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ร้อยละ 0.52 ก็จะกระทบอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้โตไม่ถึงร้อยละ 3 ซึ่งก่อนหน้านี้หอการค้าไทยประเมินเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.2 ทำให้ปัญหาภัยแล้งครั้งนี้สุ่มเสี่ยงเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าอัตราดังกล่าว และเมื่อประเมินผลกระทบจากภัยแล้ง 2 ช่วง โดยเฉพาะรอบ 2 มีมูลค่าความเสียหายมากวก่า 35,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ อยากเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อทดแทนรายได้เกษตรกรที่ลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกระทบกำลังซื้อ โดยอัดฉีดไม่น้อยกว่า 70,000-100,000 ล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะไม่ใช้กลไกเรื่องราคา โดยจะลดต้นทุนหรือสร้างงานเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร จากสถานการณ์ปัจจุบันหอการค้าไทยเห็นว่าสามารถใช้มาตรการราคาเข้ามาทดแทนได้

จากการประเมินของหอการค้าไทยพบว่าปัญหาภัยแล้งครั้งนี้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบหนักสุด คือ เกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่า 20 ไร่ ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องก่อหนี้นอกระบเพื่อนำเงินมาใช้ในชีวิตประจำวันดูแลการศึกษาบุตรหลานและเตรียมแผนเพาะปลูกฤดูกาลต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น